วันพฤหัสบดีที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2565

มรดกในบทกลอน คำสอนเสด็จเตี่ย


ภาพที่ ๑ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์

ภาพที่ ๒ เหตุการณ์รบทางเรือในวิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ 


     จากเหตุการณ์รบทางเรือในวิกฤตการณ์ ร.ศ. ๑๑๒ เมื่อวันที่ ๑๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๓๖ เหตุการณ์สิ้นสุดด้วยการที่ประเทศไทยต้องถูกปรับและสูญเสียดินแดนบางส่วนไป นับว่าเป็นบทเรียนอันมีค่าสำหรับประเทศไทยที่จะต้องรีบเร่งปรับปรุงและพัฒนาประเทศ เพื่อไม่ให้ประเทศมหาอำนาจใช้เป็นข้ออ้างในการเข้ารุกรานประเทศไทย ดังนั้นใน พ.ศ. ๒๔๓๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงได้ทรงส่งพระโอรสหลายพระองค์ไปศึกษาวิชาด้านการปกครอง การทหารบกและการทหารเรือ ณ ประเทศในยุโรป เพื่อจะได้นำองค์ความรู้มาปรับปรุงพัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรืองทัดเทียมอารยประเทศ โดยได้ทรงส่งสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ไปศึกษาวิชาการทหารเรือ ณ ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นมหาอำนาจทางทะเลประเทศหนึ่งในขณะนั้น หลังจากพระองค์ได้จบการศึกษา พระองค์ได้รับราชการในกองทัพเรือและได้ทรงวางรากฐานให้กองทัพเรือพัฒนาในหลายๆด้าน เช่น ทรงให้กำเนิดแผนป้องกันประเทศทางทะเลฉบับแรกของประเทศไทย ที่เรียกว่า“โครงการเสริมสร้างกำลังทางเรือ ร.ศ.๑๒๙ ประกอบด้วยแนวคิดในการใช้กำลังทางเรือและความต้องการกำลังรบทางเรือซึ่งก็คือแผนการทัพ(Campaign Plan) ในการป้องกันประเทศทางทะเลฉบับแรกของประเทศไทยโดยวิสัยทัศน์ของพระองค์เป็นแนวคิดยุทธศาสตร์ทะเล (Maritime Strategy) คือ การมองเขตแดนทางทะเลเป็นเสมือนแผ่นดินที่ต้องมีอำนาจอธิปไตยและการที่ประเทศต้องรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลเช่นเดียวกับการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางบกและความขัดแย้งระหว่างรัฐสามารถขยายอำนาจจากทะเลขึ้นสู่ฝั่งและยึดครองพื้นที่ทางบกต่อไปได้  (ดั่งเช่นวิกฤตการณ์ ร.ศ.๑๑๒ สงครามฝรั่งเศส-สยาม ซึ่งฝรั่งเศสใช้การทูตเเบบเรือปืน นำเรือละเมิดอธิปไตยของไทยโดยมีการสู้รบกันที่ป้อมพระจุลจอมเกล้าและฝรั่งเศสได้ทำการปิดอ่าวไทยบริเวณเกาะสีชัง และเข้ายึด จว. จันทบุรีและ จว. ตราด กดดันจนทำให้รัฐบาลไทยต้องยอมเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง) และการนำวิทยาการสมัยใหม่เข้ามาปรับใช้ในหลักสูตรการเรียนของโรงเรียนนายเรือ โดยครั้งเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงได้แต่งตั้งให้นายพลเรือตรี พระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ รองผู้บัญชาการกรมทหารเรือทำการในตำแหน่งเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ พระองค์จึงได้ทรงวางหลักสูตรโรงเรียนนายเรือใหม่ ทรงรับหน้าที่เป็นครูในบางวิชาที่ทรงเชี่ยวชาญ คือ ตรีโกณมิติ ดาราศาสตร์ วิชาการเรือ และอุทกศาสตร์ เช่นเดียวกับนายทหารเรืออีกหลายท่าน ซึ่งต้องแบ่งเวลาทำงานมาช่วยกันสอนวิชาที่ตนมีความชำนาญ การศึกษาในโรงเรียนนายเรือจึงก้าวหน้ายิ่งขึ้น

ภาพที่ โรงเรียนนายเรือ

ในปี พ.ศ. ๒๔๔๙ (ร.ศ. ๑๒๕) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสร็จมาทรงเปิดโรงเรียน นายเรือ โดยใช้ชื่อว่า “โรงเรียนนายเรือ ร.ศ. ๑๒๕” ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานลาย พระราชหัตถเลขา ไว้ในบันทึกสมุดเยี่ยม โรงเรียนนายเรือไว้ว่า


ภาพที่ พระราชหัตถเลขาในบันทึกสมุดเยี่ยม โรงเรียนนายเรือ

“วันที่ ๒๐ พฤษจิกายน ร.ศ. ๑๒๕ เราจุฬาลงกรณ์ ปร. ได้มาเปิดโรงเรียนนี้ มีความปลื้มใจซึ่งได้เหนการทหารเรือมีรากหยั่งลงแล้วจะเปนที่มั่นสืบไปในภายน่า”

โดยพระราชหัตถเลขานี้เอง วันที่ ๒๐ พฤศจิกายน ซึ่งเป็นวันที่รากฐานการทหารเรือได้หยั่งลงแล้ว จึงถือว่าเป็นวันกองทัพเรือสืบมาจนถึงทุกวันนี้ และจากการที่พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์    ทรงได้เป็นผู้วางรากฐานการบริหารงานของกองทัพเรือในทุกๆด้าน ดังนั้นในปี พ.. ๒๕๔๔ กองทัพเรือได้มีประกาศกองทัพเรือขนานพระนามพระองค์ว่า "องค์บิดาของทหารเรือไทย" และจากพระกรุณาของพระองค์ที่มีต่อทหารเรือ ดั่งพ่อกับลูก พระองค์ทรงได้รับการเชิดชูในหมู่ทหารเรือเรียกขานพระองค์ว่า "เสด็จเตี่ย" โดยหม่อมราชวงศ์  จิยากร อาภากร เสสะเวช ประธานมูลนิธิราชสกุลอาภากร ในพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์  ได้อธิบายไว้ถึงที่มาของคำเรียก เสด็จเตี่ย ในงานครบรอบ ๑๔๐ ปี วันคล้ายวันประสูติของพระองค์ท่านไว้ว่า

พระองค์ท่านทรงให้ความเป็นกันเองกับทหารเรือทุกคน เพราะทรงเห็นว่าทหารเรือก็คือลูกหลานของพระองค์ ดังนั้นเพื่อให้ไม่เกิดความห่างไกลกัน จึงทรงให้เรียกพระองค์ท่านว่า เตี่ย ซึ่งเป็นคำจีนที่คนไทยรู้จักเป็นอย่างดี และทำให้เกิดความใกล้ชิดกันมากขึ้นค่ะ เมื่อทหารเรือเรียกพระนามพระองค์ท่านว่าเตี่ย ก็จึงเติมคำว่าเสด็จนำหน้าด้วย ต่อมาคนทั่วไปก็จึงเรียกพระนามพระองค์ว่า เสด็จเตี่ย ไปโดยปริยาย

และด้วยลักษณะนิสัยของพระองค์ท่าน  ผู้เปรียบเสมือนพ่อหรือเสด็จเตี่ยที่รักเหล่าทหารเรือดั่งพ่อกับลูก จึงมีเรื่องเล่าถึงพระกรุณาต่อทหารเรือในทุกระดับชั้นเช่นเรื่องการจัดตั้งกิจการฌาปนกิจกองทัพเรือ ตามจดหมายหลวงรักษาราชทรัพย์ (รักษ์ เอกะวิภาต) ลง ๑๕ ธันวาคม พ.. ๒๔๙๖ ดังนี้

 พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เ์จ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เสด็จไปตรวจดูเรือราชพิธีที่โรงเก็บเรือคลองบางกอกน้อยครั้นเวลาเสด็จกลับผ่าน มาทางหลังป่าช้าวัดระฆังโฆสิตาราม ถนนบ้านขมิ้น  มีงานเผาศพ ร.ต.แพ ฯ  เสด็จในกรม ฯ เห็นศพตั้งอยู่เชิงตะกอนอย่างสามัญชนมีทหารและญาติ ๑๐ กว่าคน ทรงพิจารณาอยู่รู้สึกเศร้าสลดพระทัยจึงสั่งห้ามยังไม่ให้เผา และทรงเขียนคำสั่งด้วยดินสอลงบนกระดาษให ้ร.ต.เล่ ฯ คนใช้ของเสด็จในกรม ฯ ไปให้เจ้าหน้าที่ต่าง ๆ มีใจความว่า ๑. ให้กองพันพาหนะจัดเต็นท์มากาง เอาเก้าอี้มาตั้ง ๒. ให้กองตั้งเครื่อง กรมพัสดุ จัดน้ำร้อนน้ำชาและเครื่องดื่มมาเลี้ยง  ๓. ให้นายทหารและพลทหารใน เรือรบ เรือช่วยรบ ที่ไม่ได้อยู่เวรมาร่วมพิธีศพ ๔.  ให้กองพันจัดทหารและแตร    เป็นกองเกียรติยศไปเป่าและเคารพศพเวลาเผา

 วันนั้นงานศพของ ร.ต.แพ ฯ จึงเป็นงานศพที่มีเกียรติยศ มีทหารไปร่วมงานเต็มวัดโดยมี เสด็จในกรม ฯ ทรงเป็นประธานพระราชทาน เพลิงศพ แล้วเสด็จกลับ ในวันต่อมาทรงอนุญาตให้ตั้งแผนกการกุศลฌาปนกิจขึ้นในราชนาวิกสภาอีกแผนกหนึ่ง และโปรดเกล้า ฯ  ให้ตั้งแผนกการกุศลฌาปนกิจ จึงถือได้ว่า การฌาปนกิจสงเคราะห์แห่งราชนาวีกำเนิดขึ้น ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา โดยเสด็จในกรม ฯ ทรงเป็นสมาชิกหมายเลข ๑๕ ต่อมาได้มีการตรากฎหมายเป็น พ.ร.บ.ฌาปนกิจสงเคราะห์ พ.ศ. ๒๕๑๗ และปัจจุบันมีการแก้ไขเป็น พ.ร.บ.การฌาปนกิจสงเคราะห์  พ.ศ.๒๕๔๕


ภาพที่ ๕ “หมอพร”

นอกจากพระกรุณาธิคุณที่มีต่อกองทัพเรือแล้ว พระกรุณาที่มีต่อประชาชนผู้ได้รับความเจ็บป่วย           ผู้ยากจนและคนในทุกหมู่เหล่า ทำให้พระองค์ได้รับความนับถือยกย่องในฐานะ หมอพรอีกด้วย โดยเสด็จฯในกรม ได้ไปศึกษาวิชาแพทย์แผนโบราณจากหัวหน้าหมอหลวงแห่งราชสำนักและได้ออกรักษาประชาชน ผู้ยากไร้โดยไม่คิดทั้งค่ารักษาและค่ายา โดยเปิดวังของพระองค์เป็นโรงพยาบาลเล็กๆ บางครั้งพระองค์ก็ทรง   นุ่งสะโหร่งแดง ไม่ใส่เสื้อ มีผ้าขาวม้าพาดบ่าออกรักษาคนไข้ ทรงตรวจโรคด้วยเครื่องมือสมัยใหม่ มีการตรวจเลือดและใช้กล้องตรวจโรค แต่ให้ยาแพทย์แผนไทย พระองค์ไม่ประสงค์ให้ใครเรียกว่า “เสด็จในกรมฯ” แต่โปรดให้เรียกว่า “หมอพร”

ตราบจนเมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๖ กองทัพเรือไทยจึงได้ถือเอาวันที่ ๑๙ พฤษภาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ของพระองค์ เป็น "วันอาภากร"

ภาพที่ ๖  พระตำหนักพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขต     อุดมศักดิ์” จังหวัดระยอง

ความศรัทธาสักการะจากผู้คนมากมาย ไม่จำกัดอยู่เพียงบรรดาทหารเรือเท่านั้น ประชาชนผู้ศรัทราในพระองค์ท่านจึงได้มีการรวบรวมปัจจัยจัดสร้างศาลและพระอนุสาวรีย์    พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ รวมทั้งสิ้นประมาณ ๒๑๗ แห่งทั่วประเทศไทย คงเป็นหนึ่งในข้อบ่งชี้ถึงความงดงามแห่งพระชนม์ชีพ อันทรงเคยดำรงพระองค์ให้ประจักษ์ไว้เป็นแบบอย่างเป็นมรดกตกทอดถึง  ลูกทหารเรือของพระองค์ทุกนาย ให้ผูกพันกับประชาชน

 มรดกในบทกลอน คำสอนของเสด็จเตี่ย บทกลอนในที่นี้ หมายถึง ลายพระหัตถ์ พระดำริ ตลอดจนพระนิพนธ์ร้อยกรองและบทเพลงพระนิพนธ์ที่ได้ข้ามกาลเวลาส่งต่อให้เป็นมรดกของทหารเรือที่ต้องอัญเชิญไว้เหนือเกล้าเหนือกระหม่อม จารึกไว้ในดวงจิตหรือประทับไว้บนหน้าอก เป็นลายสักมรดกในดวงจิต รศ.๑๑๒ ถึงความหมายในพระดำริและคำสอนของเสด็จเตี่ยกรมหลวงชุมพรฯ องค์บิดาของทหารเรือไทย:” ที่ได้ทรงรับสั่งมอบให้เป็นมรดกให้กับทหารเรือในทุกยุค ทุกสมัย เพื่อสืบต่อไว้ซึ่งอุดมคติและเจตนารมณ์ในการรักชาติและรักษาแผ่นดินไทยบ้านเกิดเมืองนอนนี้ไว้ด้วยเลือดเนื้อและชีวิต ซึ่งหวังว่าทหารเรือทุกนายจะปฏิบัติตนตามอย่างเสด็จเตี่ย กรมหลวงชุมพรฯ ในการปกป้องประเทศชาติ สถาบัน และประชาชนไว้ด้วยชีวิตสืบไปเช่นกัน

บทที่ ๑  มรดกจากลายพระหัตถ์และพระดำรัสของเสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ

พระคุณลักษณะของกรมหลวงชุมพรฯ โดย พลเรือเอก ประพัฒน์ จันทวิรัช อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ ได้แสดงความเห็นประกอบการค้นคว้าของท่านไว้ว่า“… ผมเข้าใจว่าลายพระหัตถ์และพระดำรัสของเสด็จในกรมหลวงชุมพรฯ ซึ่งผมได้อัญเชิญมาโดยคงรูป ถ้อยคำ สำนวน และอักขระวิธี ไว้ตามต้นฉบับนี้ คงจะทำให้เพื่อนทหารเรือเข้าใจแนวความคิดยุทธศาสตร์ของพระองค์ได้ชัดเจน โดยไม่ต้องอธิบายเพิ่มเติมอีก เพราะสำนวนของพระองค์สั้น ชัดเจน และเด็ดขาด ซึ่งผมรู้สึกว่าแม้ในสมัยนี้ ก็จะหาผู้เสมอเหมือนพระองค์ได้ยาก”

บทความเรื่อง แง่คิดชีวิตงาม ตามแนวพระดำริในกรมหลวงชุมพรฯ โดย นิธิ วติวุฒิพงศ์ และ ฑิตยา ชีชนะ  ได้วิเคราะห์แนวพระดำริของกรมหลวงชุมพรฯ ไว้ว่า “……ด้วยพระคุณลักษณะที่ทรงชัดเจน แน่วแน่ เด็ดเดี่ยว และ ทำอะไร ทำจริงตามความหมายในพระคาถาประจำพระองค์ จึงอาจกล่าวได้ว่า ความทรงมุ่งมั่นที่จะพัฒนาสยามประเทศให้เจริญก้าวหน้า ตามบทบาทหน้าที่และขีดความสามารถที่จะกระทำได้นั้น คงจะเป็นพระปณิธานที่พระองค์ทรงยึดมั่นอยู่ในพระทัยเสมอมา ส่งผลให้พระกรณียกิจทุกอย่างทั้งในและนอกราชการทหารเรือ ล้วนผ่านการทรงไตร่ตรองถึงผลประโยชน์สูงสุดอันจะเกิดแก่สังคมวงกว้าง ขณะเดียวกัน พระองค์ก็ทรงกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นอันแน่วแน่ต่อผู้บังคับบัญชา เพื่อทรงแสดงออกซึ่งเจตจำนงของพระองค์ ดังเช่นลายพระหัตถ์กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงวันที่ ๑๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๕ ระหว่างทรงอำนวยการจัดตั้งหน่วยฝึกที่บางพระ เพื่อเรียก พลทหารจากจังหวัดชายทะเลภาคตะวันออกมารับการฝึก ความตอนหนึ่งว่า

“… มีทหารแล้วไม่สอนให้มีความรู้ ก็เลวกว่าไม่มีเลย …”

หรืออีกครั้ง ระหว่างเสด็จไปทรงซื้อเรือรบหลวงพระร่วง ทรงมีลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๖๓ กราบทูลจอมพลเรือ สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภานุพันธุวงศ์วรเดช ผู้กำกับราชการกระทรวงทหารเรือ ระหว่างประทับ ณ โฮเต็ลรูเบนซ์ กรุงลอนดอน ตอนหนึ่งว่า

“… การที่เดินทางผิด ให้โทษยิ่งกว่าไม่เดินเลย …”

นอกจากพระอุปนิสัยเด็ดเดี่ยว ไม่ทรงเกรงกลัวที่จะกราบทูลพระดำริต่อผู้บังคับบัญชาแล้ว     พระดำริต่าง ๆ ของพระองค์ยังสะท้อนถึงแนวทางการดำรงพระองค์ในแง่มุมอื่น ๆ อีกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นความมัธยัสถ์ คำนึงถึงความคุ้มค่า คิดหาหนทางสร้างคุณประโยชน์สูงสุดจากทรัพยากรที่จำกัด (force multiplier)

 ดังเช่นพระดำริที่ประชุมสภาบัญชาการกระทรวงทหารเรือ ครั้งที่ ๔ เมื่อ ๑๘ ตุลาคม  ๒๔๖๕

“… ในการที่กล่าวว่า คนไม่พอ ไม่พอนั้น หมายความว่าอัตราเท่าใดจะต้องได้คนเท่านั้นมิใช่หรือ อัตรานั้นต้องเข้าใจว่าอุปมาเหมือนงบประมาณ เราตั้งงบประมาณเงินไว้ใช้จ่าย ใช่ว่าจะต้องใช้จ่ายเงินให้หมดไปตามจำนวนนั้นเมื่อไหร่ ฯลฯ อัตราคนก็เช่นเดียวกัน เราไม่จำเปนต้องเกณฑ์คนให้เต็มจำนวนตามอัตรา ถ้าจะเอาเต็มอัตรา ที่จะไม่มีให้อยู่ จะเปลืองค่าใช้จ่ายอย่างอื่นอีกมาก ฯลฯ การเกณฑ์คนเข้ามามาก ๆ นั้นเปนการเดือดร้อนแก่ไพร่บ้านพลเมืองโดยใช่เหตุ เวลานี้คนก็มากพออยู่แล้ว นอนกินอยู่เสมอ ต้องคิดถึง economic point หลักแห่งการประหยัดทรัพย์บ้าง …”

อีกมุมหนึ่งในพระดำริ แสดงถึงว่าพระองค์จะทรงมีพระอุปนิสัยเด็ดเดี่ยวและชัดเจนในสิ่งที่ตั้งพระทัยเพียงใด แต่ก็มิได้ทรงทะนงยึดมั่นในองค์ความรู้เดิม ๆ ที่เคยทรงศึกษา แต่กลับทรงสนพระทัยที่จะแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ อยู่เสมอ และทรงกล้าที่จะแสดงออกถึงข้อบกพร่องของพระองค์เองโดยไม่ปิดบัง เช่นในลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๒  กราบทูลเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ ขออนุมัติเสด็จต่างประเทศไปทรงจัดหาเรือรบและทรงศึกษาความก้าวหน้าในวิทยาการทหารเรือเพิ่มเติม“… โดยรู้สึกว่า มาบัดนี้เปนเสนาธิการทหารเรือเหมือนงมมืดแปดด้าน เฉพาะสรรพาวุธยุทธวิธีทางเรือตั้งแต่ได้เริ่มการมหาสงครามมาจนบัดนี้ได้เปลี่ยนแปลงมากมายเหลือที่จะพรรณนา ได้แต่สังเกตตามข่าวการต่อเรือประจำสถานี เดาทางตามหลังว่า การรบทางทะเลเปลี่ยนแปลงมาเปนดังนั้นดังนี้ แต่ก็เหมือนตาบอดจึงทำประโยชน์สนองพระเดชพระคุณได้โดยลำบากใจอย่างที่สุด จนแม้แต่จะแนะนำสิ่งใดสำหรับกระทรวงทหารเรือก็เปนอย่างโบราณเสียโดยมาก ถ้ามิฉะนั้นเป็นการเดาทั้งสิ้น …”

     นอกจากนี้ ยังมีลายพระหัตถ์ลงวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๒ กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ชี้แจงเหตุผลที่ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาติเสด็จไปทอดพระเนตรกิจการทหารเรือในต่างประเทศ ซึ่งสะท้อนถึงพระคุณลักษณะในการทรงแสวงหาความรู้แบบ “เรียนรู้ตลอดชีวิต” รวมทั้งพระจริยวัตร “กินอยู่ง่ายไม่ถือตัว” ของพระองค์ไว้อย่างแจ่มชัด
     “… ด้วยความมืดมนของข้าพระพุทธเจ้าที่มิได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของยุทธวิธีการทางเรือซึ่งในคราวนี้ได้เปลี่ยนแปลงมากมาย ไม่อาจกราบบังคมทูลพระกรุณาให้ถูกต้องได้ … ถ้าแม้จะรับราชการฉลองพระเดชพระคุณในตำแหน่งเสนาธิการทหารเรือต่อไป ก็จำเปนจะต้องขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาศกราบถวายบังคมลาออกไปตรวจการเปลี่ยนแปลงที่อุบัติขึ้นใหม่ เพื่อจะได้เป็นทางดำริสำหรับวางระเบียบการในเบื้องหน้า ให้เหมาะกับพระราชประสงค์และถูกยุทธนิยมทุกประการ กับทั้งจะได้ไม่ให้เปลืองพระราชทรัพย์ ในเรื่องการดำเนินการผิดทางและต้องย้อนกลับหาทางใหม่ …”

    การทรงถือ “ประโยชน์ของประเทศชาติ” เป็นหลัก ยังได้สะท้อนผ่านลายพระหัตถ์ลายพระหัตถ์กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ฉบับลงวันที่ ๒๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๖๒ เป็นช่วงเวลาทรงมีพระประชวรและประทับอยู่ที่โรงพยาบาล ณ ประเทศสิงคโปร์ ระหว่างทางเสด็จไปซื้อเรือรบหลวงพระร่วง


ที่มา  ชุมพรภาพเก่าย้อนวันวาน

 … ข้าพระพุทธเจ้าได้เคยได้ยินอยู่มากถึงคำกล่าวว่า มีทำไมทหารบก ? มีทำไมทหารเรือ ? ซื้อทำไมเรือ ? เปนการน่าพิศวงจริงหนอที่มีบุคคลเช่นนี้อยู่มาก ซ้ำจะมากขึ้นอีกด้วย จะเปนการเเสดงว่าเลือดไทยจืดลงกระมัง การทำมาหากินการค้าขายก็ตกอยู่ในมือชาวต่างประเทศเกือบหมดหรือทั้งหมดก็ว่าได้ ยังเหลือแต่การป้องกันการทำมาหากิน ต่อไปนี้ดูถ้าจะกร่อยลงไปทุกทีโดยมีอุปสรรคต่าง ๆ ในที่สุดหากินก็จะไม่หา ป้องกันก็จะไม่ป้องกันเลือดไทยจะสูญหรือ บางทีก็จะเปนได้ ถึงกรุงสยามคงเปนสยามอยู่ แต่สยามไม่ใช่เปนของคนไทย สูญพืชสูญพันธุ์เพราะหมดยาง หมดทุน หมดมานะ หมดอุตสาหะ แม้มีอุปสรรคนิดหน่อยก็ทอดอาลัย หมดความพยายาม …… ถ้าบุคคลจำพวกใดเปนเช่นนี้ จำพวกนั้นจำเปนต้องสูญหมด หมดทางไชยชนะ หมดชาติ …”

 ซึ่งเป็นหลักฐานที่สะท้อนให้เราในปัจจุบันได้เห็นว่า สิ่งที่พระองค์ทรงยึดมั่นถือมั่นที่จะพัฒนาประเทศและกิจการทหารเรือให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมประเทศตะวันตกเพื่อป้องกันประเทศจากการรุกรานของต่างชาติคงจะเป็นหัวใจสำคัญที่พระองค์ทรงยึดถือมาตลอดระยะเวลาแห่งพระชนม์ชีพนั่นเอง

 บทที่ ๒ มรดกจากตราประจำพระองค์และพระนิพนธ์กยิรา เจ กยิราเถนํ

กยิรา เจ กยิราเถนํจะทำสิ่งไร ควรทำจริง

ภาพที่ ๘ ตราประจำพระองค์กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

ที่มา:พระนิพนธ์เรื่องยุทธศาสตร์ทะเล” ของกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ซึ่งได้ทรงเรียบเรียงทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ ๑ เมษายนพ.ศ.๒๔๕๖ ตอนจบพระนิพนธ์ได้ลงท้ายว่าจะทำสิ่งไร ควรทำจริง กยิรา เจ กยิเถน

  จากพระอัจฉริยะภาพและความสนใจในพุทธศาสนา ซึ่งพระองค์เป็นลูกศิษย์ของหลวงปู่ศุข วัดมะขามเฒ่า กรมหลวงชุมพรฯ ทรงได้นำพระคาถาจากพระบาลีในพระไตรปิฎกเล่ม ๑๕ ที่ว่า กยิรา เจ กยิราเถนํ   ทฬฺหเมนํ ปรกฺกเม สิถิโล หิ ปริพฺพาโช ภิยฺโย อากิรเต รชํ”  แปลว่า ถ้าบุคคลจะพึงทำความเพียร พึงทำความเพียรนั้นจริงๆ พึงบากบั่นทำความเพียรนั้นให้มั่น เพราะว่าการบรรพชาที่ปฏิบัติย่อหย่อน ยิ่งเรี่ยรายโทษดุจธุลี  นำมาเป็นตราประจำพระองค์ว่า      กยิรา เจ กยิเถน จะทำสิ่งไร ควรทำจริง และพระองค์ยังได้ทรงนำมานิพนธ์เป็นโคลงเพื่อเปนคติให้พระโอรสและพระธิดาของพระองค์ด้วย ดังนี้

ทำงานทำจริงเจ้า จงทำ                Work while you work

ระหว่างเล่นควรจำ เล่นแท้               Play while you play

หนทางเช่นนี้นำ เป็นสุข                  That is the way

ก่อให้เกิดรื่นเริงแม้ นับถือ ทวีคูณ       To be cheerful and gay

พระนิพนธ์ จะทำสิ่งไร ควรทำจริง  กยิรา เจ กยิเถนแสดงถึงคติพระนิสัยในพระองค์ว่าทรงเป็น    คนจริง มีสัจจะ มีความตั้งมั่นว่าจะทำสิ่งไร ควรทำจริง  คือมีความมุ่งมั่น ทุ่มเท ตั้งใจในการทำงานจน สุดความสามารถ ทำให้ผลงานออกมาดีสร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับประเทศชาติ ซึ่งหลักการทรงงานนี้ก็คือ   หลักอิทธิบาท ๔  หลักชัยในการปฏิบัติกรรมฐานในพุทธศาสนาและองค์ประกอบความสำเร็จของทางโลกนั่นเอง อิทธิบาท ๔  ประกอบด้วยแนวปฏิบัติ ๔ ข้อ ได้แก่ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา อันเป็นแนวทางสำหรับการใช้ชีวิตให้ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะในการทำงาน หากสามารถเชื่อมโยงกระบวนการทั้ง       ๔ ข้อได้ ผลสำเร็จก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม ดังนี้

          ฉันทะ  การมีใจรัก ศรัทธาและเชื่อมั่นต่อสิ่งที่ทำ Where there is the will, there is the way.  ที่ใดมีความปรารถนาอันแรงกล้า ที่นั่นย่อมมีหนทางเสมอ การสร้างฉันทะ ที่ต้องพิจารณาแล้วว่ามีผลดีต่อตัวเอง ต่อผู้อื่น และดีต่อสังคมและประเทศชาติด้วย หากพิจารณาแล้วว่าเกิดผลดีต่อทั้งหมดนี้ จึงมุ่งมั่นทำด้วยความตั้งใจ หากทุกคนมุ่งมั่นทำงานด้วยความเชื่อมั่นศรัทธาที่ดี ย่อมเกิดผลสำเร็จที่ดีต่อประเทศชาติ

           วิริยะ ความเพียร ความมุ่งมั่นทุ่มเท หมายถึง ความเพียรพยายามอย่างสูง ที่จะทำตามฉันทะหรือศรัทธาของตัวเอง วิริยะนี้มาคู่กับความอดทนอดกลั้น เป็นความรู้สึกไม่ย่อท้อต่อปัญหาและมีความหวังที่จะเอาชนะอุปสรรคทั้งปวง โดยมีศรัทธาเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ นำใจ และเตือนใจ ความวิริยะอุสาหะ จึงเป็นวิถีทางของบุคคลที่กล้าท้าทายต่ออุปสรรคทั้งปวง เพื่อเป้าหมายคือ ความสำเร็จนั่นเอง

           จิตตะ  ใจที่จดจ่อและรับผิดชอบ  เมื่อมีใจที่จดจ่อแล้วก็จะเกิดความรอบคอบตาม ที่สำคัญคือ     ความรับผิดชอบ เมื่อกระทำการสิ่งใดด้วยจิตจดจ่อแล้ว ต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ทำด้วย จึงเรียกว่าเป็นผลสำเร็จดี  งามตามแบบอย่างของคุณธรรม ตามหลักศาสนาและจริยธรรมของสังคม

           วิมังสา  การทบทวนปรับแก้ไขตัวเอง ให้ดียิ่ง สิ่งที่ทำอันเกิดจากการมีใจรักศรัทรา (ฉันทะ) แล้วทำด้วยความมุ่งมั่น (วิริยะ) อย่างใจจดใจจ่อและรับผิดชอบ (จิตตะ) โดยใช้วิจารณญาณอย่างรอบรู้และรอบคอบ สุดท้ายคือ วิมังสา คือ การทบทวนปรับแก้ไขตัวเอง ให้ดียิ่ง เปรียบเทียบได้กับกระบวนการ Plan-Do-Check-Act หรือ PDCA วงจรบริหารงานคุณภาพ อันประกอบไปด้วยการวางแผน-ปฏิบัติ-ตรวจสอบ-และปรับปรุง โดยเป็นกระบวนการที่ใช้ปรับปรุงการทำงานขององค์กรอย่างเป็นระบบ โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาในทุกระดับ โดยปรับกลยุทธ์อยู่ตลอดเวลาเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่องอย่างยั่งยืนนั่นเอง

บทที่ ๓ มรดกจากบทเพลงพระนิพนธ์ เพลงเดินหน้า

เกิดมาทั้งทีมันก็ดีอยู่แต่เมื่อเป็น อีกสามร้อยปีก็ไม่มีใครจะเห็น

ใครเขาจะนึก ใครเขาจะฝัน เขาก็ลืมกันเหมือนตัวเล็น

นานไปเขาก็ลืมใครหรือจะยืมชีวิตให้เป็น

ใครจะเห็นก็เห็นแต่น้ำใจ จำได้แต่ชื่อว่าตัวเราคือทหารเรือไทย

ตายแต่ตัวชื่อยังฟุ้ง ทั่วทั้งกรุงก็ไม่ลืมได้

(สร้อย) ทั้งเซาธ์ ทั้งเวสต์ ทั้งนอร์ธ ทั้งอีสต์ จะคิดถึงตัวเราใย

จะต้องตายทุกคนไป ส่วนตัวเราตายไว้ยืนไว้ยืนแต่ชื่อ

ให้โลกทั้งหลายเขาลือว่าตัวเราคือทหารเรือไทย

เกิดมาทั้งทีมันก็มีอยู่แต่ทุกข์ภัย วันนี้เคราะห์ดีรุ่งขึ้นพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไร

ดีเคยพลชั่วเคยเห็น จนเคยเป็น มีเคยได้ อนาคต เราไม่รู้ถึงไม่รู้ก็ต้องเดินไป

จะกลัวไปใยมันก็ล่วงไปตามเวลา ไม่ตายวันนี้ก็คงไปซี้เอาวันข้างหน้า

วันนี้ยอพรุ่งนี้ด่าไม่ใช่ขี้ข้าปากของใคร

(สร้อย) ทั้งเซาธ์ ทั้งเวสต์ ทั้งนอร์ธ ทั้งอีสต์ จะคิดถึงตัวเราใย

จะต้องตายทุกคนไป ส่วนตัวเราตายไว้ยืนไว้ยืนแต่ชื่อ

ให้โลกทั้งหลายเขาลือว่าตัวเราคือทหารเรือไทย

คุณค่าในเชิงวรรณศิลป์จากความเห็นของ ผศ.ดร.รังสิพันธุ์ แข็งขัน ผู้วิจัยวิทยานิพนธ์เรื่อง การศึกษาบทเพลงทหารเรือในพระนิพนธ์ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ กล่าวไว้ว่า

“… ถ้าเราจะพิจารณาในแง่สุนทรียภาพจากเพลงพระนิพนธ์ของท่าน จะเห็นว่ามีพระปรีชาสามารถในทางกวีหรือในทางวรรณศิลป์ เช่น บทเพลง เดินหน้ามีท่อนหนึ่งที่น่าสนใจคือ ดีเคยพบ ชั่วเคยเห็น      จนเคยเป็น มีเคยได้ ถ้าเราพิจารณา ๔ วลีที่ว่านี้ นี่คือการนำสำนวนไทยที่ว่า ชั่วดีมีจน มาใช้ร่วมกับวลีว่า เคยพบเคยเห็นเคยเป็นเคยได้ หรือวันนี้เคราะห์ดี พอถึงพรุ่งนี้จะเป็นอย่างไรคือที่บอกว่า วันนี้  ยอ พรุ่งนี้ด่า ไม่ใช่ขี้ข้าขี้ปากของใคร ก็แปลได้ว่า พระองค์ท่านอาจจะทรงนำหลักธรรมในการไม่ยึดติดและการปล่อยวาง เอามาประยุกต์ใช้ในการดำเนินพระชนม์ชีพของท่านและถ่ายทอดให้ผู้รับฟังไปพิจารณาในหลักธรรมข้อนี้ด้วย

เกิดมาทั้งที มันก็ดีอยู่แต่เมื่อเป็น  อีกสามร้อยปี ก็ไม่มีใครจะเห็นและ ส่วนตัวเราตาย ไว้ยืนแต่ชื่อให้โลกทั้งหลายเขาลือ ว่าตัวเราคือทหารเรือไทย

ข้อความในบทเพลงนี้มีความหมายทั้งในแง่วรรณกรรมและหลักธรรมการทำความดีหากจะเปรียบเทียบแล้วมีความสอดคล้องกับพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  บรมนาถบพิตร ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อ ๒๕ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๐๖ ที่ว่า การทำความดี คือ การปิดทองหลังพระ ดังนี้

"การปิดทองหลังพระนั้น เมื่อถึงคราวจำเป็นก็ต้องปิด ว่าที่จริงแล้วคนโดยมาก ไม่ค่อยชอบปิดทองหลังพระกันนัก เพราะนึกว่าไม่มีใครเห็น แต่ถ้าทุกคนพากันปิดทองแต่ข้างหน้า ไม่มีใครปิดทองหลังพระเลย พระจะเป็นพระที่งามบริบูรณ์ไม่ได้"

จึงสามารถสรุปได้ว่า วรรณศิลป์สไตล์กรมหลวงชุมพรฯ คือ การสอดแทรกแง่คิดคำสอนจากค่านิยมอุดมคติที่พระองค์ทรงยึดถือเพื่อส่งต่อให้ทหารเรือและผู้สนใจได้นำไปพินิจพิเคราะห์และยึดเป็นแนวทางในการดำรงชีวิตและการปฏิบัติงานต่อไป

บทที่ มรดกจากบทเพลงพระนิพนธ์เพลงศีลแปดสำหรับทหาร

เพลงศีลแปดสำหรับทหาร

เกิดเป็นชายฝ่ายชลพลรบ            ต้องรู้จบในหัวใจฝ่ายทหาร
มีแปดบทจดจำให้ชำนาญ                 จะเป็นการรู้สึกได้ฝึกตน
อันข้อความตามที่มีในบท                 โดยกำหนดบทสอนสุนทรผล

ข้อหนึ่งต้องกล้าหาญจิตทานทน   สู้ศึกจนชีวาตม์ขาดทำลาย
แต่ไม่ควรหาญกล้าในท่าผิด               กระทำผิดกิจจริงสิ่งทั้งหลาย
ไม่ควรการหาญตนไปจนตาย             เป็นน่าอายอดสูดูไม่ควร

สองข้อห้ามตามที่มีในบท             มิได้ปดปกปิดทำผิดผวน
ถึงทำผิดไซร้สิ่งไม่ควร                        รับโดยด่วนเสียดีกว่าอย่าดื้อดึง

ข้อสามอย่าคิดจิตโลภละโมบมาก    ถึงจนยากอย่างพึ่งคิดพินิจถึง
เราเป็นทหารชาญศึกนึกคะนึง              หาแต่ซึ่งน้ำนวลให้ควรการ

ข้อสี่ผู้มีคุณการุณรัก                    จงรู้จักคุณท่านหมั่นสมาน
กตัญญูต่อนายจนวายปราณ              คิดหักหาญแต่ไพรีที่บีฑา
อีกบ้านเกิดเมืองนอนบิดรนี้                 สำคัญที่ควรจะรักให้หนักหนา
ทั้งรู้จักรักชาติอาตมา                       คิดตั้งหน้าพรักพร้อมสามัคคี

ข้อห้าสาหดให้อดทน                  ถึงอับจนอย่าเป็นทุกข์ให้สุขี
ทั้งลำบากยากแค้นแสนทวี                  ถึงโรคีป่วยไข้ไม่สบาย
เราเป็นทหารชาญศึกนึกประจญ           มิได้บ่นออกปากว่ายากหลาย
กระทำหน้าที่ให้ตลอดจนวอดวาย        คงเป็นชายขึ้นชื่อให้ลือนาม

ข้อหกบำบัดระมัดจิต                   ประพฤติกิจสุภาพไม่หยาบหยาม
ทั้งกิริยาดีพร้อมละม่อมงาม                 ไม่ลวนลามประมาทชาติบุคคล

ข้อเจ็ดห้ามขาดอย่าอาจหาญ             ประพฤติการผิดเช่นไม่เป็นผล
อันทรัพย์สินเงินทองใช่ของตน               ของบุคคลหวงห้ามอย่านำมา
อย่าลักลอบของท่านเป็นการผิด               ประพฤติกิจโจรกรรมทำมิจฉา
อีกลูกเขาเมียเขาอย่าลอบรักอย่าลักพา     เสพกามาผิดเล่ห์ประเพณี

ข้อที่แปดชี้แจงแสดงอรรถ                 มนุษย์สัตว์ได้ทุกข์ไม่สุขี
ให้มีจิตเมตตาคิดปรานี                        ไม่เลือกที่รักชังทั้งประมวญ

รวมแปดข้อเท่านี้มีกำหนด                 ตามแบบบทที่คิดไม่ผิดผวน
ควรทหารทุกคนต้องบ่นจำ                    ทุกเช้าค่ำให้ระลึกนึกถึงเอย

พระนิพนธ์บทนี้ เนื้อหาและการสื่อสารที่ชัดเจนว่า มีพระประสงค์จะประทานข้อคิดเตือนใจบรรดาทหาร ผ่านทางวรรณศิลป์ตามสไตล์ของพระองค์ แต่ใครจะปฏิเสธได้ว่า เนื้อหาสาระอันปรากฏอยู่ทั้งหมดนั้น ล้วนเป็นแง่งามสำหรับการดำเนินชีวิตของคนทุกสาขาอาชีพได้กระทั่งจนถึงทุกวันนี้

บทที่ ๖ มรดกจากบทเพลงพระนิพนธ์ ดาบของชาติ

ดาบของชาติ เล่มนี้คือชีวิตเรา ถึงจะคมอยู่ดีลับไว้ สำหรับสู้ไพรีให้ชาติเรานา

ให้มิตรให้เมียให้ลูกแล้ชาติไทย

ขออัญเชิญลายพระหัตถ์นายพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ที่ได้ทรงกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2445 ที่ว่า

“… ข้าพระพุทธเจ้าเป็นทหาร ถึงจะตายลงไป ก็คงจะต้องฉลองพระเดชพระคุณ

ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท  จนสิ้นชีวิตร …”

บทเพลง ดาบของชาติเป็นบทเพลงอมตะ ซึ่งทหารเรือทุกนายจะใช้เป็นบทเพลง/เป็นคำปฏิญาณถวายต่อหน้าพระพักตร์กรมหลวงชุมพรฯ ณ ศาลกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ยอดเขาแหลมปู่เจ้า   ฐานทัพเรือสัตหีบ จังหวัด ชลบุรี เวลาต้องออกปฏิบัติราชการหรือในงานพิธีสำคัญ โดยบทเพลง ดาบของชาติ เป็นบทเพลงที่มีความหมายลึกซึ้งถึงจิตวิญญาณทหารเรือที่ได้ส่งต่อมรดกและภารกิจจากรับสั่งของ เสด็จเตี่ย กรมหลวงชุมพรฯ ให้ลูกหลานกองทัพเรือต้องรักษาและปกป้องประเทศชาตินี้ไว้ด้วยชีวิต  ซึ่งแม้ว่าพระองค์จะสิ้นพระชนม์ชีพไปแล้วเป็นเวลาถึง ๙๘ ปี (พ..๒๕๖๔)  แต่ประชาชนคนไทยและ  เหล่าทหารเรือเราก็ยังคงเชื่อมั่นว่าดวงพระวิญญาณของพระองค์ทรงคุ้มครองประเทศชาติ ประชาชนและลูกๆทหารเรือของพระองค์ และหวังว่าให้พวกเราทุกนายจะทำหน้าที่สืบสานพระปนิธานของพระองค์ต่อไป

จากมรดกสุดท้ายจากบทเพลงพระนิพนธ์ดาบของชาติและลายพระหัตถ์คงจะเป็นเครื่องยืนยันถึง พระคุณลักษณะของพระองค์พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ในความจงรักภักดี ถือประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก โดยมุ่งหวังให้ประเทศไทยและกองทัพเรือมีความเจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศ จากพระอุปนิสัย พระวิริยะอุตสาหะของพระองค์ในการปฏิบัติราชการทหารเรือ และพระเมตตาในการช่วยเหลือประชาชนตลอดห้วงพระชนม์ชีพของพระองค์ ทำให้เรื่องราวแห่งพระประวัติของพระองค์ยังคงเป็นที่เล่าขานข้ามกาลสมัย และเป็นแบบอย่างอันน่ายึดถือควรค่าแก่การเทิดพระเกียรติเคารพสักการะของผู้คนและเหล่าทหารเรือ จากอดีต จวบจนปัจจุบัน และ สืบไปสู่อนาคตสมัยต่อไป

รวมใจภักดิ์ รักษ์ชาติ ราษฎร์ศรัทธา"

ให้ปฏิบัติงานในหน้าที่รับผิดชอบอย่างเต็มกำลังความสามารถ ด้วยความจงรักภักดี ด้วยสติรู้ตัว ปัญญารู้คิด สุจริตจริงใจ และเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมยิ่งกว่าประโยชน์ส่วนอื่น

บทสรุป

มรดกในบทกลอน คำสอนเสด็จเตี่ย เป็นเพียงเรื่องราวบางส่วนของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ซึ่งผู้เขียนพยายามวิเคราะห์เจตนารมณ์ของพระองค์ที่ทรงถ่ายทอดผ่านการทรงงานของพระองค์รวบรวมให้เป็นมรดกตกทอดของเหล่าทหารเรือและผู้ที่สนใจสืบต่อไป สิ่งที่หวังคือเพื่อให้เหล่าทหารเรือได้ตระหนักและมีสัจจะของชายชาติทหารว่าเราเป็นลูกเสด็จเตี่ยแล้ว เราจึงควรต้องมีอุดมการณ์ในความรักชาติและสถาบันต้องอยู่เหนือชีวิต เช่นเดียวกับพระองค์ท่าน จึงควรต้องสำรวจการกระทำหรือความประพฤติในงานความรับผิดชอบของตนเองอยู่สม่ำเสมอว่าต้องตั้งอยู่บนผลประโยชน์ของส่วนรวม กองทัพเรือและประเทศชาติเป็นหลักในการปฏิบัติงานตามภารกิจของหน่วยในขอบเขตอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบของตนเองที่ได้รับมอบหมายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะส่งผลดีให้กับประเทศชาติ และกองทัพเรือสามารถบรรลุเป้าหมายตามภารกิจหน้าที่ตามกฎหมายในการเป็นหน่วยงานหลักด้านความมั่นคงของประเทศในการป้องกันราชอาณาจักร การคุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล  การสนับสนุนการพัฒนาประเทศและช่วยเหลือประชาชน เพื่อส่งมอบ คุณค่าของกองทัพเรือ” นี้ให้กับสังคม ดั่งคำที่ว่า กองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ สมดั่งปณิธานของ พล.ร.อ.สมประสงค์  นิลสมัย ผู้บัญชาการทหารเรือ    ซึ่งได้ประกาศเจตนารมณ์และมอบนโยบายผู้บัญชาการทหารเรือ ประจำปีงบประมาณ ๒๕๖๕ แก่กำลังพลกองทัพเรือแก่กำลังพลกองทัพเรือ ณ หอประชุมกองทัพเรือ เมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๔ ที่ว่า


 
รวมใจภักดิ์ รักษ์ชาติ ราษฎร์ศรัทธา"

ให้ปฏิบัติงานในหน้าที่รับผิดชอบอย่างเต็มกำลังความสามารถ ด้วยความจงรักภักดี ด้วยสติรู้ตัว ปัญญารู้คิด สุจริตจริงใจ และเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมยิ่งกว่าประโยชน์ส่วนอื่น

เอกสารอ้างอิง (Reference)

๑.  ผศ.ดร.รังสิพันธุ์ แข็งขัน.  (.. ๒๕๔๐).  “การศึกษาบทเพลงทหารเรือในพระนิพนธ์ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาวัฒนธรรมศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล .

๒. นิธิ วติวุฒิพงศ์ และ ฑิตยา ชีชนะ แง่คิดชีวิตงาม ตามแนวพระดำริในกรมหลวงชุมพรฯ, แหล่งข้อมูล https://hrh-abhakara-120anv-homecoming.com/hrh-prince-abahakara-quotes/ . สืบค้นเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๖๔.

๓. พลเรือเอก ประพัฒน์ จันทวิรัช , พระประวัติและพระกรณียกิจในสมัยรัชกาลที่ ๕ ของพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์"

๔. กรมยุทธการทหารบก. ๒๕๔๑“การจัดตั้งโรงเรียนนายเรือในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว”. หนังสือการทหารของไทยในรัชสมัยพระบามสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว.

๕. รังสิพันธุ์ แข็งขัน . ทำไมทหารเรือรักกรมหลวงชุมพรฯ การศึกษาบทบาทเพลงทหารเรือในพระนิพนธ์ พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์. แหล่งข้อมูล   https://www.silpa-mag.com/history/article_34451 . สืบค้น๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๔.

๖.  พิสุทธิ์ศักดิ์  ศรีชุมพล , ผลการศึกษาแนวทางการใช้กำลังทางเรือตามโครงการเสริมสร้างกำลังทางเรือ ร.ศ. ๑๒๙ ของกรมหลวงชุมพร เขตรอุดมศักดิ์ฯ เพื่อการปรับปรุงแผนป้องกันประเทศทางทะเลของกองทัพเรือ. แหล่งข้อมูล  https://ache-pko.blogspot.com/2019/ สืบค้นเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๔.

    ๗. แนวหน้าวาไรตี้ , บทสัมภาษณ์ของ ดร.เฉลิมชัย ยอดมาลัยกับ หม่อมราชวงศ์ จิยากร อาภากร เสสะเวชประธานมูลนิธิราชสกุลอาภากรฯ ในวาระครบรอบ 140 ปี วันคล้ายวันประสูติในพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์แหล่งข้อมูล  https://www.naewna.com/lady/549062/ สืบค้นเมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๔.

 


 

บทความล่าสุดที่เผยแพร่

การแขวนพระตามพื้นดวงเกิดและการเร่งพุทธคุณพระเครื่องด้วยหลักการอิทธิบาทสี่

  การแขวนพระตามพื้นดวงเกิดและการเร่งพุทธคุณพระเครื่องที่แขวนประจำตัวด้วยหลักการอิทธิบาทสี่ นะโมวิมุตตานัง นะโมวิมุตติยา ความนอบน้อมของข้าฯ จ...

บทความที่ได้รับความนิยม