ภาพที่ ๑ อาณาเขตทางทะเลกับความมั่นคงของชาติ
บทความนี้ผู้เขียนตั้งใจที่จะนำเสนอเรื่องอาณาเขตทางทะเล (Maritime Zone) กับความมั่นคงของชาติ (National Security) ซึ่งเป็นพื้นฐานองค์ความรู้สำคัญสำหรับผู้ที่สนใจจะศึกษาเรื่องความมั่นคงทางทะเล (Maritime Security) ทั้งนี้เนื่องจากภูมิรัฐศาสตร์(Geopolitics) ของประเทศไทยมีที่ตั้งตรงจุดศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียน โดยเป็นจุดเชื่อมต่อของมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งเป็นพื้นที่อิทธิพลของประเทศมหาอำนาจ ได้แก่ อินเดีย จีน สหรัฐ ดังนั้นอาณาเขตทางทะเลของไทยทั้งด้านอ่าวไทยและทะเลอันดามันและเส้นทางขนส่งทางทะเลเข้า-ออกของประเทศซึ่งเชื่อมต่อกับจุดยุทธศาสตร์การเดินเรือของโลก ได้แก่ ทะเลจีนใต้และช่องแคบมะละกา จึงกลายเป็นพื้นที่ที่มีผลกระทบจากปมขัดแย้งทางทะเลระหว่างจีน อินเดียและสหรัฐ ไปด้วยในอนาคต นอกจากนี้จากรายงานผลการวิจัยเรื่องความมั่นคงทางทะเล ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้สรุปแนวโน้มปัญหาในทะเลของประเทศไทย ได้แก่ ๑) ปัญหาการอ้างสิทธิทับซ้อนในทะเล ๒) ปัญหาความปลอดภัยของเส้นทางการเดินเรือ ๓) ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ ๔) ปัญหาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมทางทะเล และ ๕) ปัญหาภัยธรรมชาติทางทะเล ซึ่งปัญหาทั้งหมดนี้มีความซับซ้อน เชื่อมโยงกันและส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อประชาชน สังคมและความมั่นคงในทุกด้านของประเทศ ดังนั้นยุทธศาสตร์ชาติและแผนความมั่นคงแห่งชาติทางทะเล จึงได้เปลี่ยนแนวคิดการรักษาความมั่นคงของประเทศเป็นความมั่นคงแบบองค์รวม (Comprehensive Security) โดยมุ่งที่จะบูรณาการพลังอำนาจแห่งชาติทุกด้านในการดำเนินการต่อภัยคุกคามทุกรูปแบบอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจกับการทหารและการต่างประเทศของประเทศไทย ตลอดจนการนำกรอบแนวคิดประชาคมอาเซียน(ASEAN Community) และอาเซียนเป็นศูนย์กลาง (ASEAN Centrality เพื่อการรักษาผลประโยชน์ร่วมกันของอาเซียนในการแก้ไขปัญหาหรือสร้างอำนาจต่อรองร่วมกันต่อการขยายอิทธิพลของประเทศมหาอำนาจในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับกองทัพเรือ ซึ่งเป็นหน่วยงานความมั่นคงทางทะเลหลักของประเทศ มีหน้าที่ในการป้องกันประเทศทางทะเลและการคุ้มครองผลประโยชน์ของชาติทางทะเล การบริหารจัดการความมั่นคงชายแดนทางทะเลร่วมกับศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล จึงมีความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาความมั่นคงทางทะเลของประเทศทั้งในสถานการณ์ปกติ,สถานการณ์วิกฤติ/ไม่ปกติและสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัฐ ซึ่งนอกจากจะเป็นการแสดงถึงการขยายอำนาจเขตของรัฐชายฝั่ง/ประเทศไทยในการคุ้มครองผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศแล้วยังเป็นการป้องปรามต่อประเทศที่อาจจะมีความขัดแย้งในปัญหาทางทะเลในอนาคต ตลอดจนเป็นการตอบโต้ภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ได้เป็นอย่างดี
ภาพที่ ๒ เส้นทางการค้าและจุดยุทธศาสตร์ทางทะเลที่สำคัญของโลก
บทความในวิเทศปริทัศน์ ของกระทรวงการต่างประเทศ เรื่อง เมื่อปัจจัยทางภูมิศาสตร์เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายในการกำหนดนโยบายต่างประเทศ
ซึ่งอ้างอิงแนวคิดจากหนังสือ Prisoners of Geography โดย Tim Marshall และ The Revenge of
Geography โดย Robert D. Kaplan สรุปความสำคัญของที่ตั้งประเทศไทยไว้ว่า
ประเทศไทย มีสถานะเป็น Rimland ของภูมิภาคยูเรเชียและจุดเชื่อมโยงสู่
heartland ของประเทศภาคพื้นสมุทรในภูมิภาค ประเทศไทยมีข้อได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบทางภูมิศาสตร์จากการเป็นจุดศูนย์กลางความเชื่อมโยงระหว่างภาคพื้นทวีป
(Mainland) กับภาคพื้นมหาสมุทร (Maritime) ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โดยมีพื้นที่ทางภาคเหนือที่ตั้งอยู่ไม่ห่างไกลจากจีน
และทางภาคใต้ติดมหาสมุทรทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก (ทะเลอันดามันและอ่าวไทย)
ในด้านเศรษฐกิจไทยเป็นพื้นที่ทางผ่านของโครงข่ายความเชื่อมโยงภายใต้กรอบความร่วมมือต่าง
ๆเช่น Greater Mekong Sub-region (GMS) และความเชื่อมโยงภายใต้กรอบอาเซียนซึ่งเป็นโอกาสทางด้านการค้า
การลงทุน และการเชื่อมโยงทางโครงสร้างพื้นฐานและคมนาคม ในด้านความมั่นคง
ไทยสามารถใช้ประโยชน์จากประเทศรอบข้างเป็นรัฐกันชน (buffer zone) เมื่อเกิดข้อขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศขณะเดียวกันการที่ไทยมีพรมแดนทางบกติดกับกัมพูชา
สปป. ลาว เมียนมา และมาเลเซีย
ก็ทำให้ไทยมีความเปราะบางต่อการได้รับผลกระทบทางภัยด้านความมั่นคงในรูปแบบต่าง ๆ
จากประเทศเพื่อนบ้านเหล่านี้ด้วยไทยควรใช้ประโยชน์จากภูมิศาสตร์ในฐานะปัจจัยขับเคลื่อนนโยบายต่างประเทศ
(location-driven)โดยใช้จุดแข็งจากการเป็นจุดสำคัญในการเชื่อมโยงของภูมิภาคและเป็นพื้นที่ซึ่งมหาอำนาจทั้งสหรัฐอเมริกาและจีนรวมถึงประเทศมหาอำนาจขนาดกลาง ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย และออสเตรเลียเข้ามาปฏิสัมพันธ์ในด้านการค้า การลงทุน ความมั่นคง
และความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา เพื่อชักจูงให้มหาอำนาจต่าง ๆ
เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาไทยและอนุภูมิภาค ผ่านกรอบความร่วมมือที่ไทยมีบทบาทนำ
เช่น ACMECS เพื่อเชื่อมโยงกับความร่วมมือในกรอบ Mekong-U.S.
Partnership (MUSP) ของสหรัฐอเมริกา และ Lancang-Mekong Cooperation (LMC) ของจีน ทั้งนี้
การดำเนินการดังกล่าวจะประสบความสำเร็จได้ต่อเมื่อไทยเสริมสร้างความตระหนักรับรู้แก่ประเทศในอนุภูมิภาคในผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการขับเคลื่อนความร่วมมือให้มีผลเป็นรูปธรรม
โดยประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางความเชื่อมโยงในภูมิภาคอย่างแท้จริงได้ต่อเมื่อมีการส่งเสริมบทบาทด้านความเชื่อมโยงทางทะเลให้เด่นชัดยิ่งขึ้นควบคู่กับจุดแข็งด้านความเชื่อมโยงทางบกและทางอากาศ
ทั้งนี้ การยกระดับท่าเรือแหลมฉบังและการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
(EEC) โดยเฉพาะสนามบินอู่ตะเภา รวมถึงการเชื่อมโยง ๓ ท่าเรือ
ได้แก่ ท่าเรือสัตหีบ ท่าเรือมาบตาพุด และท่าเรือแหลมฉบัง
จะเป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนบทบาทการเป็นศูนย์กลางความเชื่อมโยงทางบก
ทางอากาศและทางทะเลของประเทศไทย
๒. ความสำคัญของอาณาเขตทางทะเลต่อผลประโยชน์ของชาติทางทะเล
ประเทศไทยได้มีการลงนามในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.๑๙๘๒(United Nations
Convention on the Law of the Sea 1982 : UNCLOS 1982) เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๕ และได้ให้สัตยาบันเป็นภาคีอนุสัญญาฯ
เมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ จึงมีผลใช้บังคับกับประเทศไทยโดยสมบูรณ์ โดยในสัตยาบันประเทศไทยได้ออกประกาศแนบท้ายจำนวน
๕ ข้อโดยมีข้อ ๓ ข้อที่สำคัญ ได้แก่ ข้อ ๒ รัฐบาลไทยไม่ผูกพันคําประกาศหรือการแสดงท่าทีที่มีวัตถุประสงค์เป็นการตัดหรือเปลี่ยนแปลงขอบเขตทางกฎหมายตามบทบัญญัติและไม่ผูกพันกฎหมายภายในใดๆที่ไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง
ข้อ ๓ การให้สัตยาบันของรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไม่เป็นการรับรองหรือยอมรับการอ้างสิทธิเหนือพื้นที่ของรัฐภาคีใดๆ ข้อ ๔ รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยเข้าใจว่าในเขตเศรษฐกิจจําเพาะ
การอุปโภคเสรีภาพในการเดินเรือที่สอดคล้องกับบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องของอนุสัญญาฯ ไม่รวมถึงการใช้ทะเลในทางไม่สันติโดยปราศจากความยินยอมของรัฐชายฝั่ง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การฝึกทางทหาร หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่อาจกระทบต่อสิทธิและผลประโยชนของรัฐชายฝั่ง
และไม่รวมถึงการคุกคามหรือการใช้กําลังต่อบูรณภาพแห่ง ดินแดน เอกราชทางการเมือง สันติภาพ
หรือความมั่นคงของรัฐชายฝั่ง
งานวิจัย เรื่อง
อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.๑๙๘๒ กับการดำเนินงานของประเทศไทย (United Nations
Convention on the Law of the Sea (1982) and Its Implementation in
Thailand) โดย รองศาสตราจารย์ ดร.โสภารัตน์ จารุสมบัติ คณะรัฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่าประเทศไทยต้องมีการดำเนินการเพื่อเป็นการพิทักษ์สิทธิและประโยชน์ทางทะเล
อันจะได้รับจากอนุสัญญาฯ ฉบับนี้ และขณะเดียวกันอนุสัญญาฯก็ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยโดยเฉพาะการประกาศเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศเพื่อนบ้านตามอนุสัญญาฯทำให้ประเทศไทยไม่มีอาณาเขตติดกับทะเลหลวง
ธุรกิจประมงไทยประสบปัญหาในการเดินเรือผ่านประเทศอื่นๆ และงานวิจัยของ ศ.ดร.ชุมพร ปัจจุสานนท์เรื่อง
การศึกษากระบวนการการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.๑๙๘๒
ได้ชี้ให้เห็นว่าการเข้าร่วมในอนุสัญญาฯก่อให้เกิดผลดีกับประเทศไทยในลักษณะที่จะทำให้สามารถปกป้องผลประโยชน์ของชาติทางทะเลได้อย่างเต็มที่ในเวทีระหว่างประเทศ
และทำให้เกิดการปรับปรุงกฎหมายไทยที่เกี่ยวข้องได้อย่างเป็นระบบ
ประเทศไทยมีอาณาเขตทางทะเล (Maritime Zone) ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.๑๙๘๒ เท่ากับ ๓๒๓,๔๘๘.๓๒ ตารางกิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ ๖๐ ของอาณาเขตทางบก ประกอบด้วย น่านน้ำภายใน (Internal Waters) ทะเลอาณาเขต (Territorial Waters) เขตต่อเนื่อง (Contiguous Zone) เขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive Economic Zones) ไหล่ทวีป (Continental Shelf) ไปจนถึงทะเลหลวง (High Seas)
ภาพที่ ๓ Maritime zones and rights
under the 1982 United Nations Convention on the Law of the Sea (UNCLOS)
ประเทศไทยมีความยาวชายฝั่งทะเลฝั่งอ่าวไทย
และฝั่งอันดามัน รวมถึงช่องแคบมะละกาตอนเหนือ รวมความยาวชายฝั่งทะเลทั้งสิ้น
๓๑๔๘.๒๓ กิโลเมตร ครอบคลุม ๒๓ จังหวัดที่ติดชายฝั่งทะเล
เมื่อพิจารณาที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ของประเทศไทยแล้วจะเห็นได้ว่าอ่าวไทยมีลักษณะเป็นกึ่งปิด
(Semi Enclosed Sea) ที่ถูกห้อมล้อมด้วยน่านน้ำที่เป็นเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศต่างๆ ถึง ๒
ชั้น ด้านอ่าวไทยชั้นใน คือ
ประเทศกัมพูชา เวียดนาม และมาเลเซีย และ ชั้นนอกอ่าวไทย คือ ประเทศจีน
อินโดนิเซีย และฟิลิปปินส์ ส่วนทางด้านตะวันตก ในส่วนของพื้นที่ตอนเหนือของช่องแคบมะละกาถูกโอบล้อมด้วยน่านน้ำของประเทศมาเลเซีย
และอินโดนีเซีย ส่วนพื้นที่ตอนบนในส่วนของทะเลอันดามันถูกโอบล้อมด้วยน่านน้ำของประเทศอินเดียและเมียนมา ด้วยเหตุผลลักษณะอาณาเขตทางทะเลของไทย
ที่อ่าวไทยมีลักษณะเป็นกึ่งปิด (Semi Enclosed Sea) และถูกห้อมล้อมด้วยน่านน้ำที่เป็นเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศต่างๆ
ถึง ๒ ชั้น ดังนั้นเรื่องอาณาเขตทางทะเลของไทยจึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติทางทะเลของประเทศไทย
ภาพที่ ๔ อาณาเขตทางทะเลของไทยถูกปิดล้อมด้วยน่านน้ำที่เป็นเขตเศรษฐกิจจำเพาะของปรเทศอื่น ถึง ๒ ชั้น
เขตอำนาจแห่งชาติของรัฐ (National Jurisdiction) เป็นคำที่ปรากฏอยู่ในสนธิสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.๑๙๘๒ มีความหมายว่าพื้นที่ทั้งหมดของรัฐชายฝั่งไม่ว่าจะเป็นแผ่นดิน (land) น่านน้ำภายใน (internal water) ทะเลอาณาเขต (territorial sea) เขตเศรษฐกิจจำเพาะ (exclusive economic zone) และไหล่ทวีป (continental shelf) ซึ่งเป็นบริเวณที่รัฐสามารถใช้เขตอำนาจในการออกกฎหมายและใช้บังคับกฎหมายได้ สิทธิอธิปไตย (Sovereign Rights) และ อธิปไตยของรัฐ (State Sovereignty) ซึ่งมีความหมายแตกต่างกันในทางกฎหมาย โดยอธิปไตยแห่งรัฐมีความหมายคือความเป็นอำนาจสูงสุดของรัฐ (Autonomous of State) ที่มีอยู่กับรัฐทุกรัฐอย่างเท่าเทียมกัน ที่จะดำเนินกิจกรรมใดๆ ในทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองภายในอาณาเขตแห่งรัฐ อันเป็นหลักการตามกฎหมายระหว่างประเทศ สิทธิอธิปไตยแม้จะเป็นสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดของรัฐแต่ก็เป็นสิทธิสูงสุดที่ครอบคลุมเป็นการเฉพาะเจาะจง เช่น สิทธิเหนือทรัพยากรแร่ธาตุ เป็นสิทธิที่เกิดขึ้นโดยผลของความตกลงร่วมกันของรัฐภาคีที่ใช้อำนาจอธิปไตยมีเป้าหมายสำคัญที่จะแสดง ๑) รับรองสิทธิและอำนาจเหนือฐานทรัพยากรเฉพาะที่ระบุไว้ในความตกลง๒) เป็นหลักการทางกฎหมายที่จะไปสร้างข้อผูกพัน (Obligation) และหน้าที่ของรัฐ (Duty of State) ที่จะให้ความเคารพและยึดถือปฏิบัติในทางระหว่างประเทศสิทธิอธิปไตยที่ว่านี้เป็นสิทธิที่รับรองให้แก่รัฐที่มีอำนาจอธิปไตยเพื่อเข้าไปบริหารจัดการให้อยู่ภายใต้เขตอำนาจแห่งรัฐ(National Jurisdiction
ภาพที่ ๕ เขตอำนาจแห่งชาติของรัฐ (National Jurisdiction) อาณาเขตทางทะเลของประเทศไทย
อาณาเขตทางทะเล(Maritime Zone)เป็นที่มาของความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติทางทะเลของประเทศ โดยรัฐชายฝั่งสามารถกำหนดเส้นฐานเป็นเส้นเริ่มต้นพื้นที่อาณาเขตทางทะเลตามหลักเกณฑ์อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล
ค.ศ.๑๙๘๒ หากจะแบ่งพื้นที่ทางทะเลตามเขตอำนาจแห่งชาติของรัฐ (National
Jurisdiction) มีดังนี้
๑) เขตที่แสดงถึงอำนาจอธิปไตย
(Sovereignty)
ของประเทศ ได้แก่ น่านน้ำภายในและทะเลอาณาเขต
(Territorial
sea) มีความกว้างไม่เกิน ๑๒ ไมล์ทะเลโดยวัดจากเส้นฐานโดยเป็นเขตที่แสดงถึงอำนาจอธิปไตยของประเทศ ในกฎหมายระหว่างประเทศ
คือความเป็นอำนาจสูงสุดของรัฐ (Autonomous of State) เป็นอำนาจที่รัฐสามารถบังคับใช้กฎหมายภายในของตนได้โดยสมบูรณ์เช่นเดียวกับการใช้กฎหมายบนแผ่นดินและน่านน้ำภายใน โดยรัฐชายฝั่งมีอำนาจอธิปไตยรวมถึงห้วงอากาศ
(air
space) พื้นดินท้องทะเล (sea-bed) และดินใต้ผิวดิน
(subsoil) ในทะเลอาณาเขตนี้ด้วย แต่เรือต่างชาติสามารถเดินเรือได้
เรียกว่า การใช้สิทธิการผ่านโดยสุจริต (right of innocent passage) คือ ต้องไม่ส่งผลต่อสันติภาพ ความสงบเรียบร้อย หรือความมั่นคงของประเทศ
๒) เขตที่แสดงถึงสิทธิอธิปไตย (Sovereign Right) ของประเทศ ได้แก่
เขตต่อเนื่อง (Contiguous
zone) บริเวณที่อยู่ถัดไปจากทะเลอาณาเขต มีความกว้างไม่เกิน ๒๔
ไมล์ทะเลวัดจากเส้นฐานนั้น รัฐมีอำนาจบังคับใช้กฎหมายเรื่อง ศุลกากร
การคลัง การลักลอบเข้าเมือง การสุขาภิบาล คุ้มครองวัตถุโบราณ
หรือวัตถุทางประวัติศาสตร์ที่พบใต้ทะเล เขตเศรษฐกิจจำเพาะ (Exclusive
Economic Zone - EEZ) คือบริเวณที่อยู่ถัดออกไปจากทะเลอาณาเขต
มีความกว้างไม่เกิน ๒๐๐ ไมล์ทะเลจากเส้นฐานนั้น รัฐมีอำนาจสำรวจ น้ำมัน
ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อแสวงประโยชน์ อนุรักษ์ หรือ จัดการได้
ทั้งที่มีชีวิตหรือไม่มีชีวิต ทั้งในน้ำ เหนือพื้นดินท้องทะเล ในพื้นดินท้องทะเล
ไปจนถึงใต้ผิวดินของพื้นดินท้องทะเล นั้น และมีสิทธิแต่ผู้เดียว (exclusive
rights) ในการสร้างหรืออนุญาตให้สร้าง
ควบคุมการสร้างเกาะเทียม (artificial islands) สิ่งติดตั้ง (installations)
และสิ่งก่อสร้าง (structures) เพื่อทำการสำรวจและแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติที่ไม่มีชีวิตในเขตเศรษฐกิจจำเพาะแต่รัฐอื่นๆมีเสรีภาพในการเดินเรือ (Freedom of Navigation) การบินผ่าน
วางสายเคเบิลและท่อใต้ทะเลทั้งนี้การกำหนดเขตทางทะเลระหว่างรัฐที่อยู่ตรงข้ามหรือประชิด
ให้ทำความตกลงกันบนมูลฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ เพื่อให้บรรลุผลอันเที่ยงธรรม (equitable
solution) ไหล่ทวีป (Continental shelf) คือ พื้นดินท้องทะเลและดินใต้ผิวดินของบริเวณใต้ทะเล
ซึ่งขยายเลยทะเลอาณาเขตออกไประยะ ๒๐๐ ไมล์ทะเลจากเส้นฐาน นั้น รัฐชายฝั่งมีสิทธิอธิปไตยเหนือไหล่ทวีปในการแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรบนไหล่ทวีปและทะเลหลวง (High seas) รัฐทั้งปวงมีเสรีภาพในการเดินเรือ บินผ่าน
วิจัย และทำการประมงในทะเลหลวง ซึ่งเป็นบริเวณที่อยู่นอกเหนือเขตอำนาจของรัฐใด และรัฐมีหน้าที่ร่วมมือกันในมาตรการอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรมีชีวิตในทะเลด้วย
และบริเวณพื้นที่ (The Area)หมายถึงพื้นดินท้องทะเล
พื้นมหาสมุทร และดินใต้ผิวดินที่อยู่พ้นขอบเขตของเขตอำนาจแห่งชาติ
โดยถือว่าทรัพยากร ซึ่งหมายถึงทรัพยากรแร่ทั้งปวงที่อยู่ในสภาพของแข็ง ของเหลว หรือแก๊สที่อยู่
ณ ที่นั้น ในบริเวณพื้นที่หรือใต้พื้นดินท้องทะเล
รวมทั้งแร่โลหะหลายชนิดในบริเวณพื้นที่เป็นมรดกร่วมของมนุษย์ชาติ
สรุปว่าอาณาเขตทางทะเล (Maritime Zone) จึงเป็นที่มาของผลประโยชน์ของชาติทางทะเลเพราะระบุพื้นที่อันชอบธรรมตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล
ค.ศ.๑๙๘๒ซึ่งประเทศอื่นจะมาละเมิดหรือแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติในอาณาเขตทางทะเลของประเทศไทยไม่ได้หากมีการละเมิดจะเป็นหน้าที่ของหน่วยงานความมั่นคงโดยเฉพาะกองทัพเรือในการปกป้อง/รักษา/คุ้มครองผลประโยชน์ของชาติทางทะเลรวมถึงปกป้องอำนาจอธิปไตยและสิทธิอธิปไตยอันมาจากพิกัดระบุเส้นเขตแดนทางทะเลอันชอบธรรมตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล
ค.ศ.๑๙๘๒โดยผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐานทางทะเลและทรัพยากรทางทะเลหลัก(
Maritime
Critical Infrastructure and Key Resources) ได้แก่
ท่าเรือ เรือ แหล่งผลิตพลังงานในทะเล และระบบการให้บริการในท่าเรือ แก่เรือคนประจำเรือ ฐานขุดเจาะน้ำมันและแก๊สธรรมชาติในทะเล และธุรกิจภาคทะเล
เช่น การประมง ธุรกิจท่องเที่ยวทางทะเล การขนส่งทางทะเลฯ ทั้งนี้มูลค่าผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลในปี
๒๕๕๗ จากข้อมูลของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ
พบว่าเศรษฐกิจภาคทะเลของไทยมีมูลค่าสูงถึง ๒๔ ล้านล้านบาท คิดเป็น ๓๐ % ของ GDP และมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต นอกจากนี้แล้วอาณาเขตทางทะเลยังเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศเพราะเส้นเขตแดนทางทะเลเป็นการระบุพิกัดพื้นที่อันชอบธรรมตามกฎหมายระหว่างประเทศซึ่งแต่ละรัฐชายฝั่งมีอำนาจในการบังคับใช้กฎหมายในประเทศของตน
เช่น กฎหมายมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่ทหารเรือ ๒๙ ฉบับ และสิทธิการใช้กำลังเพื่อป้องกันประเทศของตนของรัฐสมาชิกภายใต้กฎบัตรสหประชาชาติ
ภาพที่ ๖ การกำหนดเส้นฐานตรงของประเทศเมียนม่า เวียดนาม และการอ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ของจีน
ดังนั้นแนวทางในการขยายเขตอำนาจทางทะเลของรัฐชายฝั่งทุกชาติโดยเฉพาะประเทศมหาอำนาจจึงให้ความสำคัญในการสร้างความชอบธรรมในการระบุ/อ้างถึงเส้นเขตแดนทางทะเลของประเทศตนเองตามกฎหมาย
ในการแสวงหาและปกป้องผลประโยชน์ของชาติทางทะเลของประเทศตน เช่น ประเทศจีนอ้างสิทธิเขตแดนทางทะเลจากเส้นประ ๙ เส้น (Nine-Dash-Line) จากที่มาประวัติศาสตร์ของจีนเหนือพื้นที่ทางทะเลในทะเลจีนใต้
ซึ่งมีทรัพยากรธรรมชาติทั้งสัตว์น้ำ แก้สธรรมชาติและน้ำมันจำนวนมาก
และได้มีการกำหนดมาตรการในการปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ได้แก่ยุทธศาสตร์ต่อต้านการเข้ามา/ปฏิเสธไม่ให้เข้าพื้นที่
(anti-access/area-denial
หรือเรียกด้วยตัวย่อว่า A2/AD)
เพื่อต่อต้านสหรัฐและชาติพันธมิตร เป็นต้น
ขณะที่หลายชาติก็กำหนดมาตรการในการขยายเขตอำนาจทางทะเลของตนเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาติตนเองเช่นกัน
๓. สถานะและข้อเสนอแนวทางการปรับปรุงเส้นแบ่งเขตแดนทางทะเลของประเทศไทย
การกำหนดเส้นแบ่งเขตแดนทางทะเล
(Maritime
Boundary Line) ตามอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.๑๙๘๒ (UNCLOS 1982)
โดยทั่วไปจะเริ่มต้นจากเส้นสมมติ ที่เรียกว่า เส้นฐาน (Baseline) ซึ่งเป็นเส้นที่ใช้ในการวัดความกว้าง ของทะเลอาณาเขต และเขตทางทะเลอื่นๆ ทั้งนี้
UNCLOS 1982 ได้กำหนดหลักเกณฑ์ การกำหนดขอบเขตทางทะเลระหว่างรัฐซึ่งมีฝั่งทะเลอยู่ตรงกันข้ามหรือประชิดกันในข้อ
๑๕ ทะเลอาณาเขตไว้ว่าถ้าไม่มีความตกลงระหว่างกัน รับใดรัฐหนึ่งของสองรัฐนั้นย่อมไม่มีสิทธิ์จะขยายทะเลอาณาเขตของตนเลยเส้นมัธยะ(หรือเส้นกึ่งกลาง) ซึ่งจุดทุกจุดบนเส้นมัธยะนั้นมีระยะห่างเท่ากันจากจุดที่ใกล้ที่สุดบนเส้นฐานซึ่งใช้วัดความกว้างของทะเลอาณาเขตของรัฐทั้งสองรัฐ
ในข้อ ๗๔ เขตเศรษฐกิจจำเพาะและข้อ ๘๓
ไหล่ทวีป ไว้ว่ากระทำโดยความตกลงบนมูลฐานของกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อให้บรรลุผลอันเที่ยงธรรม(Equitable
Solution) และในระหว่างที่การเจรจาในเรื่องการกำหนดขอบเขตทางทะเลยัง ไม่แล้วเสร็จ
รัฐที่เกี่ยวข้องต้องพยายามที่จะจัดทำข้อตกลงชั่วคราวที่มีลักษณะที่ปฏิบัติได้ระหว่างกัน
เช่น ข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือ หรือข้อตกลงว่าด้วยการพัฒนาร่วม
ซึ่งจะช่วยในเรื่องการแสวงหาผลประโยชน์และบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่อ้างสิทธิ์ทับซ้อนภายใต้เงื่อนไขที่รัฐเกี่ยวข้องร่วมกันกำหนดในข้อตกลง
ทั้งนี้การระงับข้อพิพาทเกี่ยวกับของเขตทางทะเลโดยสันติวิธีอยู่ใน ภาค ๑๕ ข้อ ๒๗๙
และ ข้อ ๒๘๓ ของ UNCLOS 1982 และในกฎบัตรสหประชาชาติ กำหนดการระงับข้อพิพาทโดยสันติวิธี
ผ่านการเจรจา การไต่สวน การไกล่เกลี่ย
การประนีประนอม อนุญาโตตุลาการ การระงับโดยทางศาล
การใช้ตัวแทนหรือข้อตกลงระดับภูมิภาค
เส้นฐานของประเทศไทยระบุได้
๒ ประเภท คือ เส้นฐานปกติ และเส้นฐานตรง โดยเส้นฐานปกติ
(Normal
baseline) คือ แนวน้ำลดตลอดชายฝั่งทะเล ตามที่รัฐชายฝั่งกำหนดไว้
ในแผนที่ของตน และ เส้นฐานตรง (Straight baseline) กำหนดขึ้นในกรณีที่ชายฝั่งของรัฐมีลักษณะเว้าแหว่ง
หรือมีเกาะเรียงรายอยู่ใกล้ชิดกับแนวชายฝั่ง
โดยลากเชื่อมต่อจุดที่เหมาะสมเข้าด้วยกัน ทั้งนี้ เส้นฐานตรงนั้น
จะต้องไม่หันเหไปจากทิศทางโดยทั่วไปของชายฝั่งทะเลและบริเวณทะเล
ซึ่งอยู่ภายในเส้นฐานตรง ต้องมีความสัมพันธ์กับผืนแผ่นดินอย่างใกล้ชิด เพียงพอที่จะอยู่ใต้บังคับแห่งขอบน่านน้ำภายในได้ เนื่องจากเส้นฐานเป็นตัวกำหนดทะเลอาณาเขต
(ระยะ ๑๒ ไมล์ทะเล ) หรือเป็นเส้นเริ่มต้นที่มาของอำนาจอธิปไตยและสิทธิอธิปไตยในทะเล
ดังนั้นการเปลี่ยนพิกัดของเส้นฐานจึงส่งผลกระทบถึงระยะและขนาดพื้นที่ของเขตแดนทางทะเล(ทะเลอาณาเขต
เขตต่อเนื่อง ไปจนถึงเขตเศรษฐกิจจำเพาะ) ดังนั้นเส้นฐานจึงมีความสำคัญต่อความมั่นคงและผลประโยชน์ของชาติทางทะเลของประเทศ
การกำหนดอาณาเขตทางทะเลโดยใช้เส้นฐานตรงมีกำหนดไว้เป็นกฎหมายภายในของไทยแล้ว
ได้แก่ พ.ร.บ.กำหนดเขตจังหวัดในอ่าวไทยตอนใน พ.ศ.๒๕๐๒ (อ่าวประวัติศาสตร์ของไทย) ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี
เรื่องเส้นฐานตรงและน่านน้ำภายในของประเทศไทย
ประกาศเขตเศรษฐกิจจำเพาะของราชอาณาจักรไทยด้านทะเลอันดามัน
ประกาศกำหนดเขตไหล่ทวีปของประเทศไทยด้านอ่าวไทย ดังนั้นพื้นที่อาณาเขตทางทะเลที่ใช้เส้นฐานตรงจากกฎหมายภายในของประเทศไทยข้างต้นจึงไม่อาจจะเพิ่มหรือเปลี่ยนแปลงได้เพราะได้ระบุพิกัดเส้นเขตแดนทางทะเลไปแล้วโดยเป็นการยอมรับอำนาจและสิทธิอธิปไตยของประเทศไทยตามกฎหมายระหว่างประเทศยกเว้นจะมีการปรับปรุงกฎหมายภายในของไทย
ภาพที่ ๗ การกำหนดอาณาเขตทางทะเลของประเทศไทย
กรมอุทกศาสตร์กองทัพเรือ
ข้อเสนอในการปรับปรุงเขตแดนทางทะเลตามหลักเกณฑ์ของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.๑๙๘๒ (UNCLOS 1982) เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อพื้นที่ผลประโยชน์ทางชาติทางทะเลของไทยนั้น การกำหนดอาณาเขตทางทะเลโดยใช้เส้นฐานปกติตาม UNCLOS 1982 มาตรา ๑๓ สามารถใช้แนวน้ำลงต่ำสุดของพื้นที่ที่อยู่เหนือน้ำขณะน้ำลด(Low Tide Elevation :LTE) ในทะเลอาณาเขต เป็นเส้นฐานหรือจุดวัดอาณาเขตทางทะเล ทั้งนี้บริเวณเส้นฐานปกติของไทยมีเกาะ หินและพื้นที่ที่อยู่เหนือน้ำขณะน้ำลดตามแนวชายฝั่งจำนวนมาก รวมถึงโครงการก่อสร้างบริเวณชายฝั่งซึ่งสามารถนำมาขยายอาณาเขตทางทะเลในส่วนทะเลอาณาเขตเพิ่มเติมของประเทศไทยได้ เช่น กรณีโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ ๓ ตามรายงานการพิจารณาผลกระทบจากการถมทะเลตามโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด โดยคณะกรรมาธิการด้านการคมนาคมวุฒิสภา พบว่า “โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ ๓ จะทำให้มีพื้นที่ทะเลอาณาเขตเพิ่มขึ้น ๒๘ ตารางกิโลเมตร แต่ไม่กระทบต่อเส้นเขตเศรษฐกิจจำเพาะของประเทศไทย(อันเนื่องจากเกาะเสม็ดและเกาะจวงที่ขนาบอยู่) แต่อาจกระทบต่อเสรีภาพในการเดินเรือของรัฐอื่นและการบังคับใช้กฎหมายของรัฐชายฝั่ง (ประเทศไทย)ได้โดยต้องเป็นใช้สิทธิในการผ่านโดยสุจริตในบริเวณที่ขยายออกไป” นอกจากวิธีในการเพิ่มอาณาเขตทางทะเลโดยใช้วิธีการก่อสร้างบริเวณชายฝั่ง เช่น ท่าเรือหรือเขื่อนกันคลื่นตามข้างต้นแล้ว อีกวิธีคือ ใช้วิธีการปรับเส้นฐานปกติในภาพรวมของประเทศไทยให้เป็นเส้นฐานตรงใหม่และปรับเส้นฐานตรงเดิมให้สอดคล้องกับเส้นฐานตรงที่สร้างขึ้นใหม่ตามหลักเกณฑ์ใน UNCLOS 1982 เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนาดพื้นที่ของน่านน้ำภายในและทะเลอาณาเขต ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตทางทะเลของราชอาณาจักรไทยแบบถูกต้องตามกฎหมายระหว่างประเทศ โดยจากบทความเรื่อง “การกำหนดเส้นฐานตรงในน่านน้ำไทย” โดย น.อ.สมาน ได้รายรัมย์ ในวารสารวิชาการโรงเรียนนายเรือฯ ระบุว่าประเทศไทยได้ใช้บทบัญญัติตาม UNCLOS 1982 ประกาศเส้นฐานตรงจำนวน ๔ บริเวณ และเส้นปิดอ่าวไทยตอนใน ซึ่งถือเป็นเส้นฐานตรงประเภทหนึ่งจำนวน ๑ บริเวณ รวมเป็น ๕ บริเวณ โดยเส้นฐานตรงทั้ง ๕ บริเวณของไทยนั้นมีบัญชีค่าพิกัดที่ชัดเจนแสดงพร้อม แผนที่แนบท้ายที่จัดทำโดยกรมอุทกศาสตร์ แต่ปัจจุบันประเทศไทยยังมิได้ประกาศเส้นฐานตรงครอบคลุมน่านน้ำไทยทั้งหมดทำให้ต้องใช้เส้นฐานปกติซึ่งเป็นเส้นฐานประเภทหนึ่งที่ใช้แนวน้ำลงต่ำเป็นจุดเริ่มต้นในการกำหนดความกว้างของเขตทางทะเลบริเวณชายฝั่งที่ยังมิได้ประกาศเส้นฐานตรง
ภาพที่ ๘ ผลการวิจัยการปรับเส้นฐานปกติให้เป็นเส้นฐานตรง
และปรับเส้นฐานตรงเดิมให้สอดคล้องกับเส้นฐานตรงที่สร้างขึ้นใหม่จากเรื่อง “การกำหนดเส้นฐานตรงในน่านน้ำไทย”
โดย น.อ.สมาน ได้รายรัมย์
สรุปผลการวิจัยได้ว่า “การปรับเส้นฐานปกติให้เป็นเส้นฐานตรง และปรับเส้นฐานตรงเดิมให้สอดคล้องกับเส้นฐานตรงที่สร้างขึ้นใหม่ ตามผลการวิจัยทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนาดพื้นที่ของน่านน้ำภายในและทะเลอาณาเขตถือเป็นการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตทางทะเลของราชอาณาจักรไทย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงวิธีนี้ มีผลดีในการเพิ่มพื้นที่อำนาจอธิปไตยทางทะเลของไทย โดยไม่กระทบต่อเส้นเขตแดนทางทะเลที่ไทยได้มีข้อตกลงหรืออยู่ระหว่างการเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านแต่อย่างใด ทั้งนี้การนำเกาะหรือหินซึ่งมีความเหมาะสมในการเป็นส่วนหนึ่งของเส้นฐานตรงทั้งที่สร้างขึ้นใหม่ และปรับปรุงให้เป็นประโยชน์สูงสุดต่อประเทศไทยและสอดคล้องกับบทบัญญัติของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.๑๙๘๒ โดยมีจุดเส้นฐานตรงที่สร้างขึ้นใหม่ตามผลการศึกษาวิจัยคือ บริเวณอ่าวไทยฝั่งตะวันออกได้แก่ หินฉลาม หินสันฉลาม หินแอลแฮมบรา และหินผุด บริเวณอ่าวไทยฝั่งตะวันตก ได้แก่ หินโค่ง หินเสา เกาะขี้นก เกาะโกลำ เกาะสัตกูด เกาะเหลื่อม เกาะท้ายทรีย์ และเกาะทะลุ และ บริเวณด้านทะเลอันดามันได้แก่ เกาะหม้อ เกาะตาครุฑ เกาะคันเกาะขี้นก เกาะหลาม เกาะภูมิ เกาะโคม เกาะต้นไม้ เกาะพะยาม หินไสว เกาะค้างคาว เกาะลูกกำตก เกาะกำใหญ่ หินปุ๊ก เกาะชี หินราบ เกาะสุรินทร์เหนือ เกาะปาชุมบา เกาะตอรินลา เกาะตาชัย เกาะบอนเกาะบางู เกาะสิมิลัน เกาะปายู เกาะเมียง เกาะปายัง เกาะหูยง เกาะราชาน้อย หินแดง เกาะบูตัง เกาะสาลัง และหินตะกนเจ็ด ทั้งนี้วิธีแรกในการปรับแก้ไขเส้นฐานปกติที่เปลี่ยนแปลงอันเนื่องมาจากธรรมชาตินั้น กรมอุทกศาสตร์ในฐานะหน่วยงานรับผิดชอบการจัดทำแผนที่เดินเรือของประเทศไทย สามารถดำเนินการได้ในการปรับแก้ไขในแผนที่เดินเรือให้ทันสมัยเพื่อความปลอดภัยในการเดินเรือ สำหรับวิธีที่ ๒ การปรับเส้นฐานปกติให้เป็นเส้นฐานตรง ตามแนวทางจากผลการวิจัยของ น.อ.สมานฯ นั้น เป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ อย่างไรก็ตามควรต้องผ่านการพิจารณาจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ หากเห็นว่าสมควรก็สามารถดำเนินการตามขั้นตอนการออกกฎหมายในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๖๐ ต่อไป
๔.ปัญหาความขัดแย้งในเรื่องเส้นเขตแดนทางทะเลระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน
สถานการณ์ความมั่นคงทางทะเล สรุปว่าในอนาคตประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียนเพื่อปกป้องผลประโยชน์ร่วมกัน โดยอุปสรรคสำคัญในความร่วมมือร่วมกัน ได้แก่ ปัญหาความขัดแย้งในเรื่องเส้นเขตแดนทางทะเลภัยคุกคามทางทะเลในรูปแบบใหม่และการกระทำผิดกฎหมายในบริเวณพื้นที่เหลื่อมทับทางทะเลและในลักษณะข้ามพรมแดนระหว่างกัน ทั้งนี้ข้อมูลในบทความเรื่อง Freedom of Navigation in the Indo-Pacific Region โดยศูนย์ Sea Power Center ออสเตรเลีย ระบุว่าประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้มีข้อกำหนดเพื่อยืนยันแสดงสิทธิ์ (Rights Asserted ) ในการรักษาความมั่นคงทางทะเลหรือเป็นมาตรการในการแสดงเขตอำนาจทางทะเลของชาติโดยมุ่งประสงค์ต่อเรือรบต่างชาติในการเดินเรือหรือมีการปฏิบัติการทางทหารในอาณาเขตทางทะเลของประเทศตนเองไว้อย่างชัดเจน ดังนั้นจึงมีส่งผลกระทบต่อภารกิจกองทัพเรือในการป้องกันประเทศทางทะเลการคุ้มครองเส้นทางการขนส่งทางทะเลและผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในทะเลของประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่เหลื่อมทับทางทะเลซึ่งยังเป็นปัญหาขัดแย้งกับประเทศเพื่อนบ้านอยู่ในปัจจุบัน สรุปได้ดังนี้
๑) เมียนมา ปัญหาเขตแดนทางทะเลระหว่างไทยกับเมียนมา ได้แก่ ปัญหาการอ้างกรรมสิทธิ์เหนือเกาะ ๓
เกาะของทั้งสองประเทศ ได้แก่ เกาะหลาม เกาะคัน
และเกาะขี้นก ซึ่งเกิดจากความไม่ชัดเจนของสนธิสัญญาระหว่างไทยกับอังกฤษ
พ.ศ.๒๔๑๑ ที่ไม่ได้ระบุพิกัดตำบลที่และชื่อเกาะ โดยเมียนม่าอ้างแผนที่เดินเรือของอังกฤษ
เมื่อปี ค.ศ. ๑๙๔๘ และประเทศไทยอ้างแผนที่ที่กรมแผนที่ทหารปี ค.ศ. ๑๙๕๘ รวมไปถึงปัญหาการลักลอบขนสงยาเสพติด
การหลบหนีเข้าเมืองและการทำประมงโดยผิดกฎหมาย
การยืนยันแสดงสิทธิ์ฯ ของเมียนมา ระบุว่า เรือรบต่างชาติต้องขออนุญาตผ่านและการอ้างสิทธิในการจำกัดเสรีภาพในการเดินเรือและบินผ่านในเขตเศรษฐกิจจำเพาะและเขตต่อเนื่องด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง(Warships require prior authorization; claims the right to restrict the
freedom
of navigation and over flight in its exclusive EEZ , zone of 24 nm
with security interests)
ผลกระทบต่อภารกิจกองทัพเรือ
จากปัญหาการอ้างสิทธิ์ในเรื่องเกาะหลาม เกาะคัน และเกาะขี้นก
โดยทั้งสามเกาะมีผลต่อการกำหนดเส้นฐานของไทย จึงมีผลกระทบต่อพื้นที่ทะเลอาณาเขตต่อเนื่องไปยังพื้นที่ เขตต่อเนื่องของประเทศไทยด้วย
ซึ่งการอ้างสิทธิ์ในเขตต่อเนื่อง “ให้เรือรบต่างชาติต้องขออนุญาตผ่านและการอ้างสิทธิในการจำกัดเสรีภาพในการเดินเรือและบินผ่านในพื้นที่เขตเศรษฐกิจจำเพาะและเขตต่อเนื่อง”
ของเมียนม่า จึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อเรือรบของกองทัพเรือในการปฏิบัติภารกิจในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลในพื้นที่ที่ยังคงมีปัญหานี้ด้วย
๒) มาเลเซีย ปัญหาเขตแดนทางทะเลระหว่างไทยกับมาเลเซีย ด้านอ่าวไทย
มาจากการระบุใช้จุดกำเนิดเส้นฐานที่ต่างกันโดยไทยใช้เกาะโลซินเป็นจุดกำเนิดเส้นฐาน
ส่วนมาเลเซียใช้ขอบฝั่งของไทยโดยไม่ใช้เกาะโลซินในการพิจารณาจึงทำให้เกิดพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล
ประมาณ ๗,๕๒๐ ตร.กม. โดยเมื่อ ๒๔ ต.ค.๒๒ ไทยและมาเลเซียได้จัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการแบ่งเขตไหล่ทวีประหว่างสองประเทศในอ่าวไทย (MOU 1979) และเมื่อ ๓๐
พ.ค.๓๓ทั้งสองฝ่ายได้จัดตั้งองค์กรร่วมไทย – มาเลเซีย (MTJA) เพื่อแสวงประโยชน์ในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย – มาเลเซีย (Joint Development Area : JDA) ส่วนด้านอันดามันนั้นอ้างอิงตามหนังสือสัญญากรุงสยาม
– กรุงอังกฤษ ร.ศ. ๑๒๗ (พ.ศ.๒๔๕๒) กำหนดว่าเกาะลังกาวีเป็นของมาเลเซียและเกาะ ตะรุเตา เป็นเกาะของไทย ส่วนเกาะเล็กต่าง ๆ
หากตั้งอยู่เหนือเส้นกึ่งกลาง (เส้นมัธยะ) ระหว่างเกาะลังกาวี
และเกาะตะรุเตาให้เป็นของไทย หากอยู่ใต้เส้นกึ่งกลางให้เป็นของมาเลเซีย
การยืนยันแสดงสิทธิ์ฯ
ของมาเลเซีย ระบุว่า การฝึกทางทหารและการเคลื่อนกำลังของกองกำลังต่างชาติในเขตเศรษฐกิจจำเพาะและเขตไหล่ทวีปต้องได้รับอนุญาต(Prior consent
to military exercises and maneuvers in the EEZ and on the continental shelf)
ผลกระทบต่อภารกิจกองทัพเรือ
แม้ว่าไทยกับมาเลเซียจะยังไม่สามารถตกลงในเรื่องเส้นเขตแดนทางทะเลได้ทั้งหมดแต่การที่ทั้งสองประเทศมีการจัดทำ
MOU
เรื่อง การแบ่งเขตไหล่ทวีประหว่างสองประเทศในอ่าวไทย (MOU 1979) การจัดตั้งองค์กรร่วมไทย – มาเลเซีย (MTJA) เพื่อแสวงประโยชน์ในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย
– มาเลเซีย และความสัมพันธ์อันดีระหว่างกองทัพเรือโดยมีการฝึกร่วมกันทางทะเลอย่างต่อเนื่อง
ทำให้การ อ้างแสดงสิทธิ์
“การฝึกทางทหารและการเคลื่อนกำลังของกองกำลังต่างชาติในเขตเศรษฐกิจจำเพาะและเขตไหล่ทวีปต้องได้รับอนุญาต”
จึงอาจจะไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทยมากนักเนื่องจากทั้งสองชาติได้มีข้อตกลงในการแสวงประโยชน์จากทรัพยากรทางทะเลร่วมกันในพื้นที่ขัดแย้งทางทะเลและกองทัพเรือทั้งสองชาติมีความร่วมมือโดยเฉพาะการฝึกร่วมทางทะเลและความสัมพันธ์ทางการทหารเป็นอย่างดี
๓) กัมพูชา
ปัญหาเขตแดนทางทะเลระหว่างไทยกับกัมพูชา โดยกัมพูชาได้ประกาศเขตไหล่ทวีป
เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๕ และไทยได้ประกาศเขตไหล่ทวีปเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๖ ทำให้เกิดพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเล ประมาณ
๒๖,๐๐๐ ตร.กม. ซึ่งคาดว่าในพื้นที่นี้จะมีทรัพยากรธรรมชาติทางพลังงานที่อุดมสมบูรณ์
อันนำไป สู่แนวโน้มความขัดแย้งระหว่างกันในอนาคต
ทั้งนี้เมื่อ ๑๘ มิ.ย.๔๔ ไทยและกัมพูชาได้จัดทำบันทึกความเข้าใจไทย-กัมพูชา
ว่าด้วยพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลในไหล่ทวีป ซึ่งกำหนดให้ทั้งสองฝ่ายแก้ไขปัญหาร่วมกัน
การยืนยันแสดงสิทธิ์ฯ ของกัมพูชา ระบุว่า “การควบคุมการปฏิบัติของเรือต่างชาติทั้งหมดบนไหล่ทวีปโดยไม่คำนึงถึงจุดประสงค์และการและอ้างสิทธิ์การรักษาผลประโยชน์ด้านความมั่นคงใน เขตต่อเนื่อง
๒๔ ไมล์ (Control
of all foreign activities on the continental
shelf, irrespective of their
purpose; contiguous zone of 24nm with security
interests)”
ผลกระทบต่อภารกิจกองทัพเรือ
เนื่องจากกัมพูชามีปัญหาในเรื่องพื้นที่เหลื่อมทับทางทะเลกับประเทศไทยซึ่งในพื้นที่ดังกล่าวคาดว่าจะมีแก้สธรรมชาติและน้ำมันในทะเลจำนวนมากนั้นข้อสังเกตการอ้างสิทธิ์ในไหล่ทวีปของกัมพูชา
ซึ่งไหล่ทวีปเป็นแหล่งของแก้สธรรมชาติและน้ำมันในทะเลนั้น ในลักษณะ “การควบคุมการปฏิบัติของเรือต่างชาติทั้งหมดบนไหล่ทวีปโดยไม่คำนึงถึงจุดประสงค์โดยการอ้างสิทธิ์การรักษาผลประโยชน์ด้านความมั่นคง”
เป็นการเน้นย้ำจุดยืนและเป็นมาตรการในการป้องปรามเรือต่างชาติในการเข้าพื้นที่ จึงจะมีผลกระทบรุนแรงต่อประเทศไทยเพราะกัมพูชาอ้างสิทธิ์ไหล่ทวีปซึ่งอยู่ในพื้นที่เหลื่อมทับทางทะเลกับประเทศไทยซึ่งทั้งสองประเทศยังไม่สามารถตกลงปัญหาเขตแดนทางทะเลกันได้
อีกทั้งการพัฒนาฐานทัพเรือเรียมและ Dara Sakor โครงการเมกะโปรเจคของจีนบนพื้นที่ชายฝั่งกัมพูชาในลักษณะ Dual Used
คือสามารถใช้สนับสนุนในการปฏิบัติการทางทหารได้
อาจจะทำให้ปัญหาความขัดแย้งของชาติมหาอำนาจระหว่างจีนกับสหรัฐ
ขยายพื้นที่ปฏิบัติการทางทหารเข้ามาในอ่าวไทยซึ่งจะมีผลกระทบต่อยุทธศาสตร์และความมั่นคงทางทะเลของประเทศไทย
๔) เวียดนาม
ปัญหาพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนทางทะเลอันเนื่องจากการประกาศไหล่ทวีประหว่างไทยกับเวียดนามมีข้อยุติแล้วตามความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลเวียดนามว่าด้วยการแบ่งเขตทางทะเลระหว่างทั้งสองประเทศในอ่าวไทย
เมื่อ ๙ ส.ค.๔๐ โดยกำหนดเส้น K-C ระยะประมาณ ๗๕ ไมล์ทะเล
เริ่มต้นจากพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลไทย – กัมพูชา ลงมาถึงพื้นที่พัฒนาร่วมไทย –
มาเลเซีย อย่างไรก็ตามปัญหาการกระทำผิดกฎหมายในปจจุบัน ได้แก่ การที่เรือประมงของเวียดนามจำนวนมากรุกล้ำเขามาจับปลาในพื้นที่อาณาเขตทางทะเลของไทย
การยืนยันแสดงสิทธิ์ฯ
ของเวียดนาม ระบุว่า “เรือรบต่างชาติต้องขออนุญาตผ่านเข้าในเขตต่อเนื่อง ๒๔ ไมล์เป็นการล่วงหน้าอย่างน้อย ๓๐
วันก่อนการผ่าน และจำกัดเรือรบให้ผ่านได้ไม่เกิน ๓
ลำในเวลาเดียวกันด้วยเหตุผลด้านความมั่นคง เรือดำน้ำต้องเดินเรือบนผิวน้ำและแสดงธง
ไม่อนุญาตให้อากาศยานขึ้นลงบนเรือและอาวุธบนเรือต้องถูกตั้งไว้ในลักษณะไม่สามารถปฏิบัติการ
(Non Operational
Mode) ได้ก่อนเข้า สู่พื้นที่เขตต่อเนื่อง
๒๔ ไมล์ (Warships require authorization to be applied for at least 30 days prior to passage; passage
restricted to three warships at a time; contiguous zone
of 24nm with security interests, submarines are required to navigate on the surface and to show their flag;
aircraft are not allowed to land on board ships or be
launched from them ;on-board weapons have to be set in
‘non-operational’ mode prior to entry into the zone)”
ผลกระทบต่อภารกิจกองทัพเรือ
เวียดนามอ้างแสดงสิทธิ์ในพื้นที่เขตต่อเนื่อง ระบุว่า “เรือรบต่างชาติต้องขออนุญาตผ่านเข้าในเขตต่อเนื่อง ๒๔ ไมล์เป็นการล่วงหน้าอย่างน้อย ๓๐
วันก่อนการผ่าน และจำกัดเรือรบให้ผ่านได้ไม่เกิน ๓ ลำในเวลาเดียวกันด้วยเหตุผลความมั่นคง
เรือดำน้ำต้องเดินเรือบนผิวน้ำและแสดงธง
ไม่อนุญาตให้อากาศยานขึ้นลงบนเรือและอาวุธบนเรือต้องถูกตั้งไว้ในลักษณะไม่สามารถปฏิบัติการ
ทั้งนี้การอ้างสิทธิ์บังคับต่อเรือรบต่างชาติในเขตต่อเนื่อง
ซึ่งขัดต่ออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล ค.ศ.๑๙๘๒ การเดินเรือในเขตเศรษฐกิจจำเพาะ(เขตต่อเนื่อง ๒๔
ไมล์ทะเลรวมอยู่ใน EEZ) โดยรัฐอื่นๆมีเสรีภาพในการเดินเรือ (Freedom of Navigation) และการบินผ่าน จึงมีผลกระทบต่อเรือรบของกองทัพเรือในการเดินเรือผ่านในเขตต่อเนื่องของเวียดนาม
๕) อินโดนีเซีย
ปัญหาเขตแดนทางทะเลระหว่างไทยกับอินโดนีเซียมีระยะประมาณ ๑๙๐ ไมล์ทะเล
โดยเริ่มตั้งแต่ข้อตกลงจุดร่วม ๓ ฝ่าย ไทย – มาเลเซีย – อินโดนีเซีย เมื่อ
พ.ศ.๒๕๑๔ และข้อตกลงไหล่ทวีป พ.ศ.๒๕๑๔ และข้อตกลงก้นทะเล พ.ศ. ๒๕๑๘ และต่อมาใน ๑๘
ก.ค.๓๑ ไทยได้รวบรวมข้อตกลงดังกล่าวประกาศเป็นเขตเศรษฐกิจจำเพาะของไทย ต่อมาใน
พ.ศ.๒๕๔๘ และ พ.ศ.๒๕๕๑ ได้พบว่าอินโดนีเซียได้ตีพิมพ์แผนที่เดินเรือ
โดยปรากฏเส้นเขตเศรษฐกิจจำเพาะเกินมาจากข้อตกลงเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๔ และ พ.ศ.๒๕๑๘
ซึ่งทำให้เกิดพื้นที่ทับซ้อนของเขตเศรษฐกิจจำเพาะเป็นพื้นที่ ๗,๗๑๓.๐๙
ตร.กม.
การยืนยันแสดงสิทธิ์ฯ
ของอินโดนีเซีย ระบุว่า “เรือรบทุกชนิดที่มิใช่เรือสินค้าต้องแจ้งการผ่านน่านน้ำหมู่เกาะล่วงหน้าภายใน
ระยะ ๑๐๐ ไมล์ทะเล เรือทุกชนิดห้ามจอด
ทอดสมอหรือเดินทางผ่านโดยปราศจากเหตุผลที่ชอบด้วยกฎหมาย (Warships and all
vessels other than merchant ships must announce their passage
in advance; within 100 nm
ships are not allowed to stop, anchor or cruise ‘without
legitimate cause’)”
ผลกระทบต่อภารกิจกองทัพเรือ
การที่อินโดนีเซียระบุว่าเรือรบทุกชนิดที่มิใช่เรือสินค้าต้องแจ้งการผ่านน่านน้ำหมู่เกาะ
จึงมีผลกระทบต่อเรือรบของกองทัพเรือในการเดินเรือผ่านในพื้นที่ดังกล่าว
สำหรับประเทศไทยการยืนยันแสดงสิทธิ์
(Rights
Asserted) ถูกระบุไว้แล้วในประกาศ(Declarations of
the Kingdom of Thailand) แนบท้ายสัตยาบันสาร (Instrument of
Ratification)ของรัฐบาลไทย ว่าขอให้สัตยาบันอนุสัญญาฯสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล
ค.ศ.๑๙๘๒และจะปฏิบัติตามและดำเนินการโดยสุจริตตามข้อกำหนดภายใต้บังคับของคำประกาศที่แนบมารพร้อมสัตยาบันสารนี้
โดยประกาศมีจำนวน ๕ ข้อ ที่เกี่ยวข้องได้แก่ ข้อ ๓ ระบุว่าการให้สัตยาบันของรัฐบาลไทยไม่เป็นการรับรองหรือยอมรับการอ้างสิทธิ์เหนือพื้นที่(Territorial
claim) โดยรัฐภาคีใดๆ และข้อ ๔ ระบุว่า “รัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยเข้าใจว่าในเขตเศรษฐกิจจำเพาะการอุปโภคเสรีภาพในการเดินเรือที่สอดคล้องกับบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องของอนุสัญญาฯ
ไม่รวมถึงการใช้ทะเลในทางไม่สันติโดยปราศจากความยินยอมของรัฐชายฝั่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
การฝึกทางทหาร หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่อาจกระทบต่อสิทธิและผลประโยชนของรัฐชายฝั่ง
และไม่รวมถึงการคุกคามหรือการใช้กำลังต่อบูรณภาพแห่งดินแดน เอกราชทางการเมือง
สันติภาพ หรือความมั่นคงของรัฐชายฝั่ง”( The
Government of the Kingdom of Thailand understands that, in the exclusive
economic zone, enjoyment of the freedom of navigation in accordance with
relevant provisions of the Convention excludes any none-peaceful use without
the consent of the coastal State, the particular, military exercises or other
activities which may affect the rights or interests of the coastal States; and
it also excludes the threat or use of force against the territorial integrity,
political independence, peace or security of the coastal State.)
กลไกการระงับข้อพิพาทเขตแดนกับประเทศเพื่อนบ้านในระดับรัฐบาล มี ๔
ระดับ ได้แก่ ๑) ทวิภาคี Bilateral – Treaty / Agreement / MOU / Joint Development
Area ๒) คณะกรรมการร่วม Joint Border Commission ๓) ระดับกระทรวง Ministerial Level ๔) ระดับปฏิบัติการ Technical Level
กลไกการระงับข้อพิพาทเขตแดนของอาเซียน ระบุไว้ในกฎบัตรอาเซียน ASEAN Charter ว่าให้อาเซียนและรัฐสมาชิกอาเซียนปฏิบัติตามหลักการในหมวด ๘ การระงับข้อพิพาทรัฐ นอกจากนี้ประเทศสมาชิกอาเซียนยังคงไว้ซึ่งสิทธิที่จะใช้วิธีการระงับข้อพิพาทอย่างสันติที่ระบุไว้ในข้อ ๓๓(๑) ของกฎบัตรสหประชาชาติ หรือ ตราสารกฎหมายระหว่างประเทศอื่นๆ ที่รัฐสมาชิกคู่พิพาทเป็นภาคี หรือใช้กลไกระดับนานาชาติได้แก่ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations อSecurity Council – UNSC) ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศว่าด้วยกฎหมายทะเล (International Tribunal for the Law of the Sea – ITLOS) Hamburg, Germany ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ หรือ ศาลโลก (International Court of Justice – ICJ) The Hague, the Netherlands และศาลประจำอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ (Permanent Court of Arbitration – PCA) The Hague, the Netherlands
สรุปว่าแนวโน้มสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน
จะมีสาเหตุมาจากการแย่งชิงผลประโยชน์ของชาติทางทะเลในพื้นที่เหลื่อมทับทางทะเลซึ่งมีแก๊สธรรมชาติและน้ำมันในทะเล ซึ่งประเทศคู่ขัดแย้งจะเข้าควบคุมพื้นที่ขัดแย้งด้วยการปฏิบัติการทางทหาร
นอกจากนี้แล้วในพื้นที่รอยต่อเขตแดนทางทะเลระหว่างประเทศยังมีแนวโน้มการกระทำผิดกฎหมายในทะเลสูงขึ้น
เช่น การลักลอบจับปลาในเขตไทยของเรือประมงเวียดนาม
การลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายทางทะเล การลักลอบขนสิ่งยาเสพติดทางทะเล อีกทั้งปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาวะโลกร้อน
ปัญหาสิ่งแวดล้อมในทะเลและภัยธรรมชาติ และปัญหาการขยายอำนาจทางทะเลของประเทศมหาอำนาจทั้งจีน
สหรัฐและอินเดีย ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งส่งผลกระทบต่อไทยซึ่งเป็นศูนย์กลางของระบบขนส่งทางบก
ทางอากาศ และทางทะเล ของประชาคมอาเซียน ซึ่งปัญหานี้นับวันจะมีความซ้ำซ้อนและมีผลกระทบที่รุนแรงต่อความมั่นคงและระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย
จำเป็นต้องอาศัยการบูรณาการการจัดการความมั่นคงแบบองค์รวม
(Comprehensive Security) ในพื้นที่เขตแดนทางทะเลของไทยจากทุกหน่วยงานโดยเฉพาะกองทัพเรือและศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลในการร่วมมือกันแก้ไขปัญหาความมั่นคงของประเทศที่สำคัญนี้
๕.การป้องกันประเทศทางทะเลของกองทัพเรือ
ภารกิจกองทัพเรือถูกกำหนดขึ้นตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
พ.ศ.๒๕๖๐ และ พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการ กห.พ.ศ.๒๕๕๑ ให้กองทัพเรือมีหน้าที่เตรียมกำลังกองทัพเรือ ป้องกันราชอาณาจักรและการใช้กำลังกองทัพเรือ โดยมีผู้บัญชาการทหารเรือเป็นผู้บังคับบัญชา
และ พ.ร.บ.การรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล
พ.ศ.๒๕๖๒ ให้ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.)
ขึ้นตรงสำนักนายกรัฐมนตรี มีหน้าที่ในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล โดยมี นายกรัฐมนตรี
เป็น ผอ.ศรชล. และ ผู้บัญชาการทหารเรือเป็น
รอง ผอ.ศรชล.ในการแก้ปัญหาการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลตามมาตรา ๒๗ ใน พ.ร.บ.ฯ ทั้งในสถานการณ์ปกติและสถานการณ์วิกฤติ/ไม่ปกติ
โดย ศรชล. เป็นผู้ควบคุมบังคับบัญชาหน่วยงานของรัฐเพื่ออำนวยการในการแก้ไขปัญหากรณีที่ปัญหานั้นเกินขีดความสามารถ/ไม่มีหน่วยงานของรัฐใดรับผิดชอบหรือต้องมีการบูรณาการในการปฏิบัติงาน
นอกจากนี้ กองทัพเรือยังได้รับมอบหมายหน้าที่ในการเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายในทะเล จำนวน ๒๙
ฉบับ เป็นหน่วยสนับสนุนในการบรรเทา
สาธารณภัยในทะเลตามแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๘ เป็นหน่วยปฏิบัติ
SAR
Units ในการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเลตามแผนค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัยแห่งชาติและเป็นศูนย์ควบคุมการปฏิบัติการนอกเขตท่าเรือตามแผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติอีกด้วย
เส้นเขตแดนทางทะเลกับภารกิจกองทัพเรือ เส้นเขตแดนทางทะเลมีความแตกต่างจากเส้นเขตแดนทางบกตามกฎหมายระหว่างประเทศในเรื่อง อำนาจอธิปไตย และสิทธิอธิปไตย อีกทั้งพื้นที่ทางทะเล (Maritime Zone) มี ๔ มิติ ทั้งทางอากาศ พื้นผิวทะเลใต้ผิวทะเล ไปจนถึงท้องทะเล ซึ่งพื้นที่ทางทะเลเหล่านี้มีทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งประเทศเจ้าของรัฐหรือรัฐชายฝั่งสามารถแสวงหาผลประโยชน์จากทะเลได้ตามกฎหมายระหว่างประเทศ นอจากนี้ในการป้องกันประเทศทางทะเลซึ่งเป็นภารกิจหลักของ กองทัพเรือ.ตามกฎหมายนั้น มิติหรือพื้นที่การรบทางเรือของ กองทัพเรือ. แตกต่างจากเหล่าทัพอื่น คือ มีการปฏิบัติการทางทหารที่คลอบคลุมพื้นที่เขตแดนทางทะเล (Maritime Zone) ทั้งหมด ได้แก่ พื้นที่ท้องทะเล(Sea-bed) ไหล่ทวีป (Continental Shelf)) และใต้ผิวน้ำ (Sub Surface) เป็นพื้นที่ปฏิบัติการสงครามใต้ทะเล (Undersea Warfare) เช่น ปฏิบัติการของ เรือดำน้ำ/โครนใต้น้ำ และสงครามทุ่นระเบิด พื้นที่ผิวน้ำ (Surface) เป็นพื้นที่ปฏิบัติการสงครามรบผิวน้ำ (Surface Warfare) จนถึงพื้นที่ท้องฟ้า (Air) เป็นพื้นที่ปฏิบัติการสงครามทางอากาศ (Air Warfare) ต่อเนื่องไปยังชายฝั่งทะเลเป็นพื้นที่ปฏิบัติการยุทธ์สะเทินน้ำสะเทินบก(Amphibious Warfare) และพื้นที่ปฏิบัติการทางบก และภารกิจในการคุ้มครองพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจของรัฐบาล เช่น โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เป็นต้น
ภาพที่ ๑๐ การแบ่งพื้นที่การป้องกันประเทศทางทะเลเป็น ๕ ชั้น จากเขาสามร้อยยอดจนถึงสิงคโปร์, โครงการจัดสร้างกำลังทางเรือ ร.ศ.๑๒๙. กรมหมื่นชุมพรเขตรอุดมศักดิ์
แนวคิดและหลักนิยมในการใช้กำลังทางเรือในการป้องกันประเทศทางทะเลของกองทัพเรือ
ประวัติศาสตร์ของชาติไทย ตั้งแต่สมัยสุโขทัย สมัยอยุธยา สมัยกรุงธนบุรี จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ ทหารมีหน้าที่ในการปกป้องประเทศ โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นหลักชัยและผู้นำในการรบ ตราบจนถึงปัจจุบันในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๖๐ มาตรา ๕๒ รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย บูรณภาพแห่งอาณาเขตและเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย เกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคงของรัฐและความสงบเรียบร้อยของประชาชน เพื่อประโยชน์แห่งการนี้ รัฐต้องจัดให้มีการทหาร การทูตและการข่าวกรองที่มีประสิทธิภาพ กําลังทหารให้ใช้เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาประเทศด้วย โดยในส่วนกองทัพเรือซึ่งรับผิดชอบในภารกิจการป้องกันประเทศในพื้นที่ทางทะเลนั้น แผนป้องกันประเทศของกองทัพเรือมีการพัฒนามาตั้งแต่ยุคอดีตมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีการศึกษา/ปรับปรุงจากบทเรียนจากประวัติศาสตร์สงครามและการพัฒนาให้ทันต่อเทคโนโลยีทางการทหารและภัยคุกคามทุกรูปแบบโดยแผนป้องกันประเทศทางทะเลฉบับแรกของประเทศไทย เกิดขึ้นในสมัยของ ร.๕ ได้แก่ โครงการเสริมสร้างกำลังทางเรือ ร.ศ.๑๒๙ โดยกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์พระบิดากองทัพเรือโดยพระองค์ได้นำเอาหลักการของภูมิรัฐศาสตร์ ภูมิยุทธศาสตร์ ยุทธศาสตร์ทะเล กฎหมายและเทคโนโลยีทางการทหารที่เหมาะสมกับประเทศไทยในขณะนั้นมาจัดทำแผนป้องกันประเทศทางทะเลของประเทศไทย โดยกรอบแนวคิดพระองค์คือการป้องกันเชิงลึก(Defense in Depth) คือ ในสถานการณ์ปกติถึงความขัดแย้งระดับต่ำเป็นการป้องกันเชิงลึก(Defense in Depth) และเมื่อในสถานการณ์ปกติถึงขั้นขัดแย้งระดับสูง และสามารถปรับเปลี่ยนเป็นการใช้การป้องกันเชิงรุก (Active Defense) โดยพระองค์ได้มีความคิดเห็นเพิ่มเติมเรื่องการใช้เรือ ส (เรือดำน้ำ) ในการทำสงครามเชิงรุก (Offensive)เพื่อสร้างความได้เปรียบในการรบกับเรือผิวน้ำและการทำสงครามแบบแตกหัก (Decisive Battle) เพื่อการป้องกันประเทศและรักษาอำนาจและสิทธิอธิปไตย ซึ่งกองทัพเรือได้ยึดถือกรอบแนวคิดนี้มากำหนดเป็นยุทธศาสตร์กองทัพเรือและหลักนิยมทางเรือในแผนป้องกันประเทศทางทะเลของกองทัพเรือ
แนวคิดของการป้องกันประเทศของกองทัพเรือในยุคปัจจุบัน
แนวทางการใช้กำลังทางเรือในการป้องกันประเทศทางทะเลของกองทัพเรือเป็นไปตามหลักนิยมการป้องกันเป็นชั้น ๆ (Defense in Depth) โดยมีแนวคิดในการบังคับบัญชาเป็นพื้นที่
(Area
Command Concept) โดยทัพเรือภาครับผิดชอบเตรียมการสำหรับพื้นที่ปฏิบัติการทางทหารทางทะเลและชายฝั่งของกองทัพเรือตามแผนป้องกันประเทศและการปกป้องผลประโยชน์ของชาติทางทะเล
โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศทางทะเล (Maritime Critical
Infrastructure) สำหรับปฏิบัติกิจเชิงรุก กองทัพเรือจะมีการจัดตั้งกองเรือเฉพาะกิจ
ในการควบคุมทะเล การรักษาเส้นทางคมนาคมทางทะเลของประเทศ การป้องกันการถูกปิดอ่าวไทย
และการปฏิบัติการสะเทินน้ำสะเทินบก (Amphibious Operation) เพื่อควบคุมสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัฐ
โดยศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือ จะใช้ระบบติดตามภาพสถานการณ์ทางทะเล (Maritime
Domain Awareness: MDA) ซึ่งมีระบบแลกเปลี่ยนข่าวสารระหว่างกองทัพเรือกับหน่วยงานภายใต้ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล
และระบบการปฏิบัติการรบที่ใช้เครือข่ายเป็นศูนย์กลาง (Network Centric
Operations : NCO) ในการบังคับบัญชาสั่งการของผู้บัญชาการทหารเรือในการรบทางเรือร่วมกับการปฏิบัติการร่วมเหล่าทัพภายใต้ศูนย์บัญชาการทางทหารของกองทัพไทย
โดยพื้นที่ปฏิบัติการทางเรือตามแผนป้องกันประเทศทางทะเลจะครอบคลุมพื้นที่เขตแดนทางทะเลของประเทศไทยทั้งหมด
โดยรัฐบาลจะมีการประกาศกฎอัยการศึก หรือ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน
พ.ศ.๒๕๔๘ หรือการประกาศสถานการณ์ไม่ปกติตาม
พ.ร.บ.การรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล พ.ศ.๒๕๖๒ (มาตรา ๒๗ วรรค ๒) เพื่อควบคุมสถานการณ์วิกฤติ/ไม่ปกติ ให้กลับมาสงบเรียบร้อยตลอดจนการคุ้มครองและรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลในสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัฐ
ทั้งนี้การปฏิบัติการทางทหารจะอยู่ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ
โดยเป็นเครื่องมือหนึ่งของของรัฐบาลภายใต้กรอบแนวคิดการสร้างความมั่นคงแบบองค์รวม (Comprehensive Security )
๖. การบริหารจัดการความมั่นคงชายแดนทางทะเลของกองทัพเรือ
ภัยคุกคามต่อความปลอดภัยและความมั่นคงทางทะเลแบ่งเป็น๔ประเภท ได้แก่
๑. ภัยคุกคามต่ออำนาจอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนจากตัวแสดงที่เป็นรัฐ
ที่จำเป็นต้องใช้การปฏิบัติการทางทหารตามแบบในการแก้ไขปัญหานั้นจะมีกองทัพเรือเป็นหน่วยรับผิดชอบหลักโดยมี แผนป้องกันประเทศเป็นแนวทางการใช้กำลังทางทหารเพื่อเข้าควบคุมสถานการณ์ความขัดแย้งทางทะเลให้ได้เปรียบต่อฝ่ายตรงข้าม
และสามารถเป็นเครื่องมือรัฐในการสร้างความได้เปรียบในการเจรจาแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐและการคุ้มครองรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล
โดยเฉพาะเส้นทางขนส่งทางทะเลและโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของประเทศทางทะเล (Maritime
Critical Infrastructure) ในสภาวะไม่ปกติอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเมื่อมีสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัฐทางทะเลมีแนวโน้มความรุนแรงมากขึ้น
กองทัพเรือจำเป็นต้องควบคุมสถานการณ์และเตรียมการใช้กำลังทางทหาร นั้นกองทัพเรือ ควรจะพิจารณาเสนอให้ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล
หรือ “ศรชล.”. พิจารณาเสนอขออนุมัติจากรัฐบาลกำหนดให้เป็นสภาวะสถานการณ์ไม่ปกติ
ตามมาตรา ๒๗ วรรคสองของ พ.ร.บ.การรักษาผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลฯ เพื่อให้
ศรชล.เป็นผู้ควบคุมบังคับบัญชาหน่วยงานของรัฐในการกำกับดูแล ป้องกัน
ปราบปราม ระงับ ยับยั้ง
จัดการ แก้ไข หรือบรรเทาปัญหาที่กระทบหรืออาจส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ของชาติทางทะเลในพื้นที่และระยะเวลาที่กำหนด
และเพื่อให้กองทัพเรือในฐานะหน่วยงานหลักของ
ศรชล.สามารถเข้าดำเนินการตามแผนป้องกันประเทศของกองทัพเรือ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยเฉพาะการคุ้มครองเส้นทางขนส่งทางทะเลในพื้นที่ทะเลอาณาเขตระยะ ๑๒ ไมล์ทะเลของประเทศ
ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัด เป็น ผอ.ศรชล.จังหวัดมีหน้าที่
อำนาจและรับผิดชอบในจังหวัดชายทะเลตาม พ.ร.บ.การรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล
๒.ภัยคุกคามต่อผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลจากการกระทำโดยมนุษย์ เช่น
การทำประมงผิดกฎหมาย การลักลอบขนสิ่งยาเสพติด การลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย
การกระทำอันเป็นโจรสลัดและการปล้นเรือด้วยอาวุธในทะเล การก่อการร้ายในทะเล
การรั่วไหลของคราบน้ำมันและสารพิษในทะเล กองทัพเรือเป็นหน่วยสนับสนุนตามกฎหมายมอบอำนาจทหารเรือจำนวน ๒๙ ฉบับ และ พ.ร.บ.การรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล
พ.ศ.๒๕๖๒
๓. ภัยคุกคามต่อผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลจากภัยธรรมชาติ เช่น พายุ สึนามิ กองทัพเรือทำหน้าที่เป็นหน่วยสนับสนุนรัฐบาลในการป้องกันและแก้ไขปัญหาจากภัยพิบัติโดยเป็นหน้าที่ตามมาตรา๘(๓)แห่งพระราชบัญญัติจัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ.๒๕๕๑ทั้งนี้แนวทางการปฏิบัติในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยภายในราชอาณาจักร
จะปฏิบัติตามพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. ๒๕๕๐
โดยมีแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ และแผนบรรเทาสาธารณภัยกระทรวงกลาโหม
เป็นกรอบแนวทางการปฏิบัติงานกับฝ่ายพลเรือนเพื่อร่วมมือกันในการช่วยเหลือประชาชนในภาวะวิกฤติ
๔. การค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัยในทะเล เพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) และองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO)ซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคีของทั้งสององค์กรนั้น กองทัพเรือเป็นหน่วยสนับสนุนในฐานะองค์กรเพื่อความร่วมมือของหน่วยงานในระบบการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย มีหน้าที่ในการปฏิบัติตามแผนค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัยแห่งชาติ
การบริหารจัดการความมั่นคงชายแดนทางทะเลในการรักษาอำนาจอธิปไตย
สิทธิอธิปไตยและการรักษาและคุ้มครองผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลของไทยนั้น
สรุปได้ดังนี้
๑) น่านน้ำภายใน และ ทะเลอาณาเขต
(๑๒ ไมล์ทะเลจากเส้นฐาน) คือพื้นที่ทางทะเลที่ประเทศไทยมีอำนาจอธิปไตยตามกฎหมายทะเล
UNCLOS
1982 กองทัพเรือเป็นหน่วยงานหลักในการรักษาอำนาจอธิปไตยทางทะเลเพื่อการป้องกันราชอาณาจักรที่กำหนดไว้เป็นหน้าที่ของกองทัพตามรัฐธรรมนูญ
และ ตาม พ.ร.บ.การรักษาผลประโยชน์แห่งชาติทางทะเลฯ
มาตรา ๒๖ ให้จัดตั้งศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลจังหวัด
เรียกโดยย่อว่า“ศรชล.จังหวัด” เป็นหน่วยงานขึ้นตรงต่อ ศรชล.ภาค โดยมี ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลจังหวัด
มีหน้าที่และอำนาจและรับผิดชอบเกี่ยวกับการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลในเขตพื้นที่รับผิดชอบของจังหวัดชายทะเล
คือพื้นที่ของทะเลอาณาเขต ระยะ ๑๒ ไมล์ทะเล
- ในภาวะสถานการณ์ปกติในเขตน่านน้ำภายใน
และ ทะเลอาณาเขต เช่น กรณีเรือรบต่างชาติล่วงล้ำเข้ามาปฏิบัติการทางทหารในเขตแดนทางทะเลไทย
หน่วยงานรับผิดชอบหลักคือ กองทัพเรือ
โดยการปฏิบัติเมื่อได้รับมอบภารกิจจะเป็นการแสดงกำลังกดดันและผลักดันตามกฎการปะทะ
โดยมีโครงสร้างการบังคับบัญชา ในการใช้กำลังของกองทัพเรือ คือ ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพเรือ
และในระดับพื้นที่ ได้แก่ ทัพเรือภาค นอกจากนี้ กองทัพเรือยังทำหน้าที่สนับสนุนรัฐบาลและหน่วยงานรัฐในการปฏิบัติภารกิจในการบังคับใช้กฎหมายทะเลตามอำนาจในการปฏิบัติหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่พนักงานตามกฎหมายมอบอำนาจทหารเรือ
๒๙ ฉบับ การรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล การช่วยเหลือประชาชนจากภัยพิบัติและการขจัดมลพิษทางน้ำในทะเล
รวมถึงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเรือจมและอากาศยานตกในทะเสตามที่ได้รับมอบภารกิจจาก
ศรชล. และรัฐบาล ในพื้นที่นี้อีกด้วย
-
ในสถานการณ์ความขัดแย้งระดับสูงจนถึงภาวะสงครามระหว่างรัฐ การบริหารจัดการความมั่นคงชายแดนทางทะเลในเขตทะเลอาณาเขต
โดยเฉพาะเส้นทางขนส่งสินค้าทางทะเล เกาะและบริเวณชายฝั่งที่สำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศนั้น
กระทรวงกลาโหมได้กำหนดให้พื้นที่สำคัญเป็นพื้นที่ปลอดภัยทางทหารภายใต้ พ.ร.ฎ
พื้นที่ปลอดภัยทางทหาร โดยกองทัพเรือจะเข้าคุ้มครองเส้นทางขนส่งทางทะเล และเตรียมการในการปฏิบัติตามแผนป้องกันประเทศและการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล
ตามแนวหลักนิยมการป้องกันเป็นชั้น ๆ (Defense in
Depth) ซึ่งเป็นหน้าที่ของกองทัพเรือในการป้องกันราชอาณาจักรตามรัฐธรรมนูญ
๒)
เขตต่อเนื่อง (๑๒ – ๒๔ ไมล์ทะเล) จนถึงเขตเศรษฐกิจจำเพาะ (๒๐๐ ไมล์ทะเล)
และเขตไหล่ทวีป คือ พื้นที่ทางทะเลที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยตามกฎหมายทะเล
UNCLOS
1982
-
ในภาวะสถานการณ์ปกติ การบริหารจัดการความมั่นคงชายแดนทางทะเลในพื้นที่เหล่านี้จะอยู่ในอำนาจการบริหารของหน่วยงานความมั่นคงทางทะเล
ในการบังคับใช้กฎหมายศุลกากร รัษฎากร ตรวจคนเข้าเมือง และสาธารณสุข ตลอดจนอำนาจบังคับใช้กฎหมายตาม
พ.ร.บ.การรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลฯ โดย ศรชล.จะเป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในทะเล
ซึ่งกองทัพเรือรับผิดชอบกฎหมาย ๒๙ ฉบับ ซึ่งได้มอบอำนาจให้ทหารเรือเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายในทะเล
และ กองทัพเรือยังทำหน้าที่ในการคุ้มครอง ปกป้องผลประโยชน์ของชาติทางทะเล ตลอดจนสนับสนุนรัฐบาลในภารกิจบรรเทาภัยพิบัติในทะเล
การรักษาสิ่งแวดล้อมไปจนถึงการสนับสนุนในเรื่องการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยในทะเลในพื้นที่นี้อีกด้วย
นอกจากนี้ กองทัพเรือยังมีบทบาทสำคัญในการตอบสนองรัฐบาลในเรื่องการสร้างความมั่นคงทางทะเลในภูมิภาค
เช่น ในภารกิจการต่อต้าน/ปราบปรามโจรสลัด โดยได้ส่งหมู่เรือปราบปรามโจรสลัดของกองทัพเรือ
ไปปฏิบัติภารกิจที่อ่าวเอเดนและชายฝั่งโซมาเลีย
ร่วมกับชาติพันธมิตรในการรักษาเส้นทางขนส่งน้ำมันของโลกและการคุ้มครองกองเรือประมงไทยในทะเลหลวงและการลาดตระเวนร่วม ในช่องแคบมะละกา
ในสถานการณ์ความขัดแย้งและภาวะสงครามระหว่างรัฐ การบริหารจัดการความมั่นคงชายแดนทางทะเลในเขตต่อเนื่อง
จนถึงเขตเศรษฐกิจจำเพาะและเขตไหล่ทวีป โดยเฉพาะการคุ้มครองเส้นทางขนส่งสินค้าทางทะเล
นั้นเมื่อมีการประกาศกฎอัยการศึก ในขั้นป้องกันประเทศตามแผนป้องกันประเทศจะเป็นหน้าที่ของกองทัพเรือในการป้องกันราชอาณาจักรตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
พ.ศ. ๒๕๖๐
๘. ข้อเสนอแนะการบริหารจัดการความมั่นคงชายแดนทางทะเล
การบริหารจัดการความมั่นคงชายแดนทางทะเล
มีความแตกต่างจากการบริหารจัดการความมั่นคงชายแดนทางบก กล่าวคือ เส้นเขตแดนทางทะเลมีความแตกต่างจากเส้นเขตแดนทางบกตามกฎหมายระหว่างประเทศในเรื่อง
อำนาจอธิปไตย และสิทธิอธิปไตย และพื้นที่ทะเลมีมิติทั้งทางอากาศ
พื้นผิวทะเลใต้ผิวทะเล ไปจนถึงท้องทะเล
ซึ่งประเทศเจ้าของรัฐหรือรัฐชายฝั่งสามารถแสวงหาผลประโยชน์จากทะเลได้ตามกฎหมายระหว่างประเทศ
สรุปข้อเสนอแนะการบริหารจัดการความมั่นคงชายแดนทางทะเลได้ดังนี้
๑.การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในเรื่องเส้นเขตแดนเหลื่อมทับทางทะเลกับประเทศเพื่อนบ้าน
ปัญหาความขัดแย้งในเรื่องเส้นเขตแดนเหลื่อมทับทางทะเลระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้านมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศ
เนื่องจากพื้นที่เหลื่อมทับทางทะเลเหล่านี้มีน้ำมันและแก้สธรรมชาติในทะเลซึ่งเป็นที่ต้องการของไทยและประเทศเพื่อนบ้านอันจะทำให้เกิดปัญหาระหว่างรัฐขึ้นได้ในห้วง
๑๐ ปีข้างหน้า ได้แก่ พื้นที่เหลื่อมทับ ไทย – กัมพูชา ไทย - เมียนมา และ ไทย – มาเลเซีย ทั้งนี้กลไกในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในเรื่องเส้นเขตแดนทางทะเลในปัจจุบันไม่สามารถใช้กลไกในการแก้ไขปัญหาเส้นเขตแดนทางบก
เช่น คณะกรรมการร่วมรักษาความสงบเรียบร้อย ตามแนวชายแดนทั่วไป (General Border
Committee: GBC) คณะกรรมการระดับสูง (High level Committee:
HLC) และคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (Regional Border
Committee: RBC) มาแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในเรื่องเส้นเขตแดนเหลื่อมทับทางทะเลได้ ทั้งนี้ภายหลังจากที่ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฎหมายทะเล
ค.ศ. ๑๙๘๒ ประเทศไทยได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการในการรับผิดชอบการดำเนินงานให้เป็นไปตามบทบัญญัติของอนุสัญญาฯ
ได้แก่ คณะกรรมการอำนวยการและประสานการปฏิบัติตามนโยบายความมั่นคงแห่งชาติทะเล
(อปท.)และคณะกรรมการกฎหมายทะเลและเขตทางทะเลของประเทศไทย แต่ก็ไม่ได้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในเรื่องเส้นเขตแดนทางทะเลกับประเทศเพื่อนบ้าน
ดังนั้นรัฐบาลจึงควรจัดตั้งคณะกรรมการในการแก้ไขปัญหาเส้นเขตแดนทางทะเลกับประเทศเพื่อนบ้านแยกมาจากคณะกรรมการฯทางบก
โดยควรแบ่งระดับการแก้ปัญหาเป็นคณะกรรมการระดับสูงและคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาคเช่นเดียวกับทางบก
โดยมี ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลเป็นหน่วยงานหลักทั้งในระดับรัฐบาลและในระดับพื้นที่ คือ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค
๑-๓ การแก้ปัญหานี้ก็จะเกิดเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สรุป
การบริหารจัดการความมั่นคงชายแดนทางทะเล
ในเรื่องปัญหาความขัดแย้งในเรื่องเส้นเขตแดนเหลื่อมทับทางทะเล จำเป็นที่ต้องมีหน่วยงานรัฐแยกออกมาจากหน่วยงาน/คณะกรรมการซึ่งรับผิดชอบในการบริหารจัดการความมั่นคงชายแดนทางบก
๒. หน่วยงานหลักในการบริหารจัดการความมั่นคงชายแดนทางทะเล
เมื่อพิจารณาหน้าที่และความรับผิดชอบตามกฎหมายควรเป็น
๒ หน่วยงานหลัก ได้แก่ การป้องกันประเทศทางทะเล ควรเป็นกองทัพเรือ และ การรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล
ควรเป็นศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล
๓. ข้อเสนอแนะในการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการความมั่นคงชายแดนทางทะเล มีดังนี้
๓.๑ การปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการความมั่นคงชายแดนทางทะเล
ได้แก่ เรื่องการกำหนดเส้นเขตแดนทางทะเลโดยพิจารณาจากผลประโยชน์ของชาติทางทะเลของไทยเป็นสำคัญ การปรับปรุงกฎหมายรองรับ UNCLOS 1982 และการปรับปรุงกฎหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาอำนาจอธิปไตย
สิทธิอธิปไตยและการรักษาคุ้มครองผลประโยชน์ของชาติทางทะเลของหน่วยงานความมั่นคงทางทางทะเลของไทย
๓.๒ การเสริมสร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านผ่านกลไกในระดับกระทรวง
และระดับกองทัพเรือ โดยเฉพาะการสร้างมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ (Confidence
Building Measures - CBMs) กับประเทศเพื่อนบ้านที่มีปัญหาเขตแดนเหลื่อมทับทางทะเลกับประเทศไทย
๓.๓ การสร้างมาตรการปกป้อง รักษาคุ้มครอง
โครงสร้างพื้นฐานทางทะเลที่สำคัญของประเทศ (Maritime Critical Infrastructure) เช่น ฐานขุดเจาะในทะเล การรักษาพื้นที่ปลอดภัยในทะเลและการรักษาความปลอดภัยในเส้นทางขนส่งทางทะเลในอาณาเขตทาทะเลของไทย
๓.๔ การสร้างระบบการแลกเปลี่ยนข่าวสารทางทะเล
และระบบการสร้างการตระหนักรู้ ภาพสถานการณ์ทางทะเล
(Maritime
Domain Awareness :MDA) ระหว่าง ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลกับ
กองทัพเรือและหน่วยงานความมั่นคงทางทะเล เพื่อนำไปใช้ในภารกิจการบังคับใช้กฎหมาย
การป้องกันประเทศทางทะเล และการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล
๓.๕ ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ
(International
Civil Aviation Organization หรือ ICAO) จึงมีภาระผูกพันเกี่ยวกับการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัย
ในข้อ ๒๕ ของอนุสัญญาการบินพลเรือนระหว่างประเทศและตามภาคผนวก ๑๒
แห่งอนุสัญญาดังกล่าวได้กำหนดให้รัฐภาคีจะต้องจัดให้มีศูนย์ประสานงาน (Rescue
Co-ordination Centre หรือ RCC) เพื่อเป็นหน่วยกลางในการอำนวยการและประสานงานเกี่ยวกับการค้นหาและช่วยชีวิต
ภายในเขตความรับผิดชอบของตน (Search and Rescue Region หรือ SRR)
ดังนั้นการเสริมสร้างขีดความสามารถของหน่วยปฏิบัติงานในภารกิจการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากอากาศยานตกและเรือจมในทะเล(SAR
Units) ให้ได้มาตรฐาน ICAO และ IMO ให้ครอบคลุมพื้นที่ SAR Region ของประเทศไทยจึงเป็นเรื่องสำคัญ
๓.๖
การเสริมสร้างขีดความสามารถของหน่วยปฏิบัติงานในภารกิจบรรเทาสาธารณภัยในทะเล
ตามแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ และตามกรอบความร่วมมือและข้อตกลงของอาเซียน
๓.๗ การเสริมสร้างแนวคิดเศรษฐกิจสีน้ำเงินหรือ
Blue
Economy บรรจุในแผนความมั่นคงแห่งชาติให้เกิดผลเป็นรูปธรรม
โดยเฉพาะการแก้ปัญหาขยะในทะเล และการรักษาสิ่งแวดล้อมในทะเล
๓.๘ การสร้างฐานมวลชนของไทยอาสาป้องกันชาติในทะเลสนับสนุนงานด้านการข่าวทางทะเลของกองทัพเรือ
๓.๙ การลาดตระเวนและการตรวจการณ์ทางทะเลตลอด
๒๔ ชม./๓๖๕ วัน ด้วยเรือ อากาศยาน ยานอากาศยานไร้คนขับ(UAV) เรดาร์ตรวจการณ์ทางทะเลและเซ็นเซอร์ตรวจจับเป้าใต้น้ำในพื้นที่ที่มีสถิติการกระทำผิดกฎหมายในทะเลและในพื้นที่รอยต่อเขตแดนทางทะเลที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านตลอดจนการคุ้มครองผลประโยชน์ของชาติทางทะเล
เช่น แท่นขุดเจาะน้ำมันในทะเล
๓.๑๐ การเตรียมความพร้อมของกำลังรบทางเรือเพื่อการป้องกันประเทศและและเสริมสร้างขีดความสามารถหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายของไทยในการคุ้มครองผลประโยชน์ของชาติทางทะเลให้ครอบคลุมพื้นที่อาณาเขตทางทะเลของประเทศไทยไปจนถึงในเขตทะเลหลวงทั้งนี้ในภารกิจการป้องกันประเทศกับประเทศที่อาจจะมีความขัดแย้งในเรื่องเขตแดนทางทะเลกับประเทศไทย
นั้น กำลังทางเรือของไทยควรต้องมีขีดความสามารถที่สูงกว่าหรือใกล้เคียงกับกำลังทางเรือของประเทศคู่ขัดแย้ง
เพื่อให้การปฏิบัติการทางเรือเป็นการขยายเขตอำนาจทางทะเลเชิงรุก
ในการคุ้มครอง/ปกป้องและแสวงหาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลของประเทศไทยได้ตั้งแต่สถานการณ์ปกติ
จนถึงสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัฐ
บทสรุปสุดท้าย เรื่องอาณาเขตทางทะเลกับความมั่นคงของชาตินี้
ผู้เขียนจุดประกายมาจากการอ่านบทความเรื่องกฎหมายทะเล เขตทางทะเลของประเทศไทย ของ คุณครูพลเรือเอก
ถนอม เจริญลาภ ซึ่งท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องกฎหมายทะเลและเส้นเขตแดนทางทะเล ซึ่งมีผลงานเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศ
ท่านมีส่วนสำคัญในการแก้ไขปัญหาเขตแดนทางทะเลของประเทศไทย
ในสไตน์การทำงานแบบทหารเรือ คือ ทำงานด้วยองค์ความรู้
คือ รู้จริง ทำจริงแบบปิดทองหลังพระ ตรงไปตรงมา ซื่อสัตย์สุจริต
คิดถึงประโยชน์ของชาติเป็นสำคัญ นับว่าได้สร้างประโยชน์แก่ประเทศชาติและนับเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ทหารเรือยุคหลัง
หากบทความของผู้เขียนจะมีความดีเป็นบุญกุศลผู้เขียนขอมอบให้ดวงวิญญาณของท่านและบรรพบุรุษทหารเรือไทยที่สละชีพจากสงครามทางทะเลในอดีต
ทั้งนี้เนื้อหาในบทความได้รวบรวมข้อมูลและข้อเสนอแนะจากผลงานวิจัย ผลการสัมมนาและการประชุมที่สำคัญ
ซึ่งต้องขอขอบคุณทุกท่านที่ได้มีส่วนร่วมในบทความนี้ซึ่งไม่อาจจะระบุชื่อได้ครบทุกท่าน
โดยมีเจตนาให้ผู้อ่านได้ตระหนักรู้ถึงความสำคัญของอาณาเขตทางทะเลกับความมั่นคงของชาติ
อย่างไรก็ตามหากมีข้อบกพร่องผู้เขียนขอน้อมรับไว้เพียงผู้เดียว โดยได้นำเสนอใน ๕ เรื่องสำคัญ
ได้แก่ ๑) ภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศไทย ๒) ความสำคัญของอาณาเขตทางทะเลต่อผลประโยชน์ของชาติทางทะเล
๓) สถานะและข้อเสนอแนวทางการปรับปรุงเส้นแบ่งเขตแดนทางทะเลของประเทศไทย๔)ปัญหาความขัดแย้งในเรื่องเส้นเขตแดนทางทะเลระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน๕)การใช้กำลังทางเรือในการป้องกันประเทศทางทะเลของกองทัพเรือ และ ๖) บทสรุปและข้อเสนอแนะการบริหารจัดการความมั่นคงขายแดนทางทะเลจึงหวังว่านักการทหารและผู้ที่สนใจในเรื่องความมั่นคงทางทะเลได้เข้าใจและนำไปพิจารณาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการทำงานทั้งในระดับนโยบายและในระดับผู้ปฏิบัติต่อไป
ขอบคุณมากครับ