วันศุกร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2558

กองทัพเรือกับภารกิจการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ


กองทัพเรือกับภารกิจการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ

โดย นาวาเอก พิสุทธิ์ศักดิ์  ศรีชุมพล E-Mail:royalelephant@yahoo.com


 
สถานการณ์และแนวโน้มภัยพิบัติ

   ทศวรรษที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาที่ภัยพิบัติขนาดใหญ่เกิดขึ้นจำนวนมาก สร้างความเสียหายทั้งต่อชีวิต ทรัพย์สิน ระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมคิดเป็นมูลค่ามหาศาล โดยเฉพาะเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นพื้นที่แนวภูเขาไฟ (Ring of Fire) รอยเลื่อนแผ่นดินไหวทั้งบนบกและในทะเล และแนวพายุไต้ฝุ่น ปัญหากระทบจากสภาวะโลกร้อน การขยายตัวของประชากร การเติบโตของเมืองใหญ่และการขยายพื้นที่อุตสาหกรรมเข้าไปในเขตพื้นที่เสี่ยงต่อภัยพิบัติ ได้ทำให้ปัญหาภัยพิบัติมีความรุนแรง แนวโน้มความสูญเสียและการรับมือกับภัยพิบัติมีความซับซ้อนยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์สึนามิปี ๔๗ พายุไซโคลนนาร์กิสในพม่า การระเบิดของภูเขาไฟ เมอราปิ (Merapi) และแผ่นดินไหวในอินโดนีเซีย พายุไต้ฝุ่นไหเหยียนในฟิลิปปินส์  ประเทศไทยนั้น ในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมาต้องประสบกับภัยพิบัติที่รุนแรงมากขึ้นที่สำคัญ ได้แก่

ก) กรณีการเกิดคลื่นยักษ์สึนามิในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อปี ๔๗ นับว่าเป็นภัยพิบัติธรรมชาติที่ร้ายแรงที่ประเทศไทยเคยได้รับ โดยมีผู้เสียชีวิต (มากเป็นอันดับ ๔ รองจากอินโดนีเซีย ศรีลังกาและอินเดีย) จำนวน ๕,๓๙๖ คน สูญหาย ๒๙๕๑ คน บาดเจ็บ ๘๔๕๗ ราย กว่าครึ่งเป็นชาวต่างชาติ อีกทั้งได้สร้างความเสียหายทั้งอาคาร โรงแรม ร้านค้า บ้านเรือนราษฎร  พาหนะ ท่าเรือ และระบบสาธารณูปโภค (ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ถนน) คิดเป็นมูลค่าหลายพันล้านบาท และยังก่อให้เกิดความเสียหายแก่ระบบนิเวศ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ปะการังใต้น้ำ ป่าชายเลน แนวชายหาด และบริเวณปากแม่น้ำ
ข) กรณีเหตุการณ์มหาอุทกภัย พ.. ๒๕๕๔ นับว่าเป็นเหตุการณ์เกิดน้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทย ที่หนักที่สุดในรอบสิบปี ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างหนักทั้งชีวิตและทรัพย์สิน มีราษฎรได้รับผลกระทบกว่า ๑๓ ล้านคน ธนาคารโลกประเมินมูลค่าความเสียหายสูงถึง ๑.๔๔ ล้านล้านบาท และจัดให้เป็นภัยพิบัติครั้งสร้างความเสียหายมากที่สุดเป็นอันดับสี่ของโลก[1]


            ภาพเหตุการณ์มหาอุทกภัยในไทยปี ๕๔
                ภาพเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิในไทยปี ๔๗
 สรุปได้ว่าภัยพิบัติธรรมชาติได้สร้างความเสียหายต่อชีวิต ทรัพย์สิน ระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมคิดเป็นมูลค่ามหาศาล โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนานั้น จะเป็นอุปสรรคสำคัญในการบรรลุถึงเป้าหมายการพัฒนาประเทศที่จะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพลเมืองดีขึ้น ซึ่งหากการจัดการภัยพิบัติของรัฐบาลไม่มีประสิทธิภาพ และไม่สามารถตอบสนองความคาดหวังของประชาชนได้แล้ว เสถียรภาพและความมั่นคงของรัฐบาลย่อมจะกระทบกระเทือน ทั้งนี้จากที่ภัยพิบัติธรรมชาติเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ มีแนวโน้มการเกิดและผลความเสียหายสูงขึ้น ประเทศไทยจึงควรต้องกำหนดแผนบรรเทาสาธารณภัยที่ชัดเจน มีการนำแผนมาฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอในทุกระดับรวมทั้งการมีระบบเตือนภัยที่ทันสมัย สำหรับการแก้ปัญหาในระดับภูมิภาคนั้น เนื่องจากภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นมีแนวโน้มเป็นภัยพิบัติขนาดใหญ่ที่มีผลกระทบต่อหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียน จึงนับว่าเป็นภัยคุกคามร่วมกัน (Common Threat) ซึ่งมีความสำคัญเช่นเดียวกับภัยความมั่นคงอื่นๆของอาเซียน ดังนั้นประเทศไทยและประเทศสมาชิกอาเซียนจึงควรต้องร่วมมือกันในการจัดการภัยพิบัติดังกล่าวเช่นกัน
แนวทางการจัดการภัยพิบัติของประเทศไทย[1]
จากแนวโน้มของการเกิดสาธารณภัยมีความถี่ความรุนแรงและซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น ประเทศไทยจึงได้ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์โดยมุ่งหวังให้เกิดความสูญเสียจากสาธารณภัยน้อยที่สุด โดยมุ่งสู่การพัฒนาแบบยั่งยืน ทำให้การบริหารจัดการสาธารณภัยเปลี่ยนทิศทางจากเดิมที่เน้นเรื่อง บรรเทาและปฏิบัติการ (Relief and Response)” ไปเป็น ลดผลกระทบและเตรียมพร้อม (Mitigation and Preparedness)” การพัฒนาการจัดการสาธารณภัยจึงปรับเปลี่ยนไปสู่การปฏิบัติการในเชิงรุก (Proactive Approach) กล่าวคือจะต้องปฏิบัติการอย่างครบวงจร โดยเน้นไปที่การป้องกัน/การลดผลกระทบ (Prevention and Mitigation)และการเตรียมความพร้อม (Preparedness) ซึ่งอยู่ในช่วงระยะเวลาก่อนการเกิดสาธารณภัยควบคู่ไปกับการจัดการในภาวะฉุกเฉิน (Emergency Response) ซึ่งอยู่ในช่วงระยะเวลาระหว่างเกิดสาธารณภัย และการฟื้นฟูบูรณะ (Rehabilitation and Reconstruction) ซึ่งอยู่ในช่วงระยะเวลาหลังการเกิดสาธารณภัย ทั้งนี้แนวคิดนี้ได้ถูกบรรจุอยู่ในแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติซึ่งใช้เป็นแผนหลักในการบริหารจัดการภัยพิบัติ


ภาพวัฎจักรการบริหารจัดการสาธารณภัย
 กองทัพไทยกับภารกิจการบรรเทาสาธารณภัยเกิดขึ้นในประเทศไทย
  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา๗๗ กำหนดว่า รัฐต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราชอธิปไตยและบูรณาภาพแห่งเขตอํานาจรัฐและต้องจัดให้มีกําลังทหารอาวุธยุทโธปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยจําเป็นและเพียงพอเพื่อพิทักษ์รักษาเอกราชอธิปไตยความมั่นคงของรัฐสถาบันพระมหากษัตริย์ ผลประโยชน์แห่งชาติและการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและเพื่อการพัฒนาประเทศ ดังนั้นทหารจึงมีหน้าที่ในการสนับสนุนรัฐบาลในเรื่องการจัดการภัยพิบัติและบรรเทาสาธารณภัยซึ่งแผนต่างๆของกองทัพไทยจะถูกกำหนดตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ.๒๕๕๐ และแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ  ซึ่ง มี กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นหน่วยรับผิดชอบหลัก ซึ่งได้กำหนดระดับความรุนแรงของสาธารณภัยออกเป็น
 ระดับ ๑ ภัยทั่วไปหรือมีขนาดเล็ก : ผู้อำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยท้องถิ่น รับผิดชอบ
 ระดับ ๒ ภัยขนาดกลาง : ผู้อำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด รับผิดชอบ
 ระดับ  ๓ ภัยรุนแรงกว้างขวาง/ ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญหรืออุปกรณ์พิเศษ : ผู้อำนวยการกลาง หรือ ผู้บัญชาการ
        ผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (รมว.มท.) รับผิดชอบ
 ระดับ ๔ ภัยร้ายแรงอย่างยิ่ง นายกรัฐมนตรี รับผิดชอบ

  ภาพโครงสร้างการจัดการสาธารณภัยกองทัพไทยสนับสนุนแผนบริหารจัดการสาธารณภัยของไทย
 ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยของกองบัญชาการกองทัพไทย กองทัพบก กองทัพเรือ กองทัพอากาศ[1] ทำหน้าที่เป็นศูนย์บัญชาการในเรื่องการสนับสนุนการบรรเทาสาธารณภัยและจัดการภัยพิบัติ โดยสั่งการใช้กำลังทหารของหน่วยกำลังในพื้นที่ ได้แก่ ทัพภาค ทัพเรือภาค และหน่วยบิน ทั้งนี้แผนระดับปฏิบัติจะยึดถือแผนบรรเทาสาธารณภัยกระทรวงกลาโหม พศ.๒๕๕๔ ซึ่งจัดทำขึ้นในกรอบของยุทธศาสตร์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ แบ่ง ๓ ขั้น สรุปสาระสำคัญ ดังนี้
๑) การปฏิบัติของหน่วยทหารก่อนเกิดภัย เตรียมการช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยการการติดตามสถานการณ์และเฝ้าระวัง การฝึกอบรมและฝึกร่วมกับฝ่ายราชการและพลเรือน การทบทวนแผนการปฏิบัติซึ่งรวมไปถึงการประสานกับฝ่ายพลเรือนในการจัดเตรียมพื้นที่ปลอดภัย เพื่อรองรับการอพยพและการจัดเตรียมกำลังพล ยุทโธปกรณ์ ระบบสื่อสารในยามฉุกเฉิน  
  ๒)การปฏิบัติของหน่วยทหารในขณะเกิดภัย โดยมีการปฏิบัติดังนี้                       ๒.๑) การปฏิบัติในระดับความรุนแรงของภัยพิบัติขั้น ๑ - ๒ เป็นการสนับสนุนหน่วยงานราชการและฝ่ายพลเรือนเมื่อร้องขอ ทั้งนี้ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยของกองทัพไทยจะมีการเฝ้าระวัง และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเตรียมกำลังพลยุทโธปกรณ์ให้พร้อมสามารถปฏิบัติงานได้ทันทีเมื่อระดับความรุนแรงเพิ่มขึ้น และประสานการปฏิบัติกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องโดยใกล้ชิด        .๒) การปฏิบัติในระดับความรุนแรงของภัยพิบัติขั้น ๓ กองทัพไทยและเหล่าทัพจะสั่งการให้หน่วยในพื้นที่ที่จัดกำลังพล ยุทโธปกรณ์ และเครื่องมือเข้าปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างต่อเนื่องโดยประสานการปฏิบัติและทำงานร่วมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและมูลนิธิเอกชนในพื้นที่ รายงานให้ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยของกองทัพไทยเพื่อเตรียมสนับสนุนทรัพยากรและกำลังพล 
     ๒.๓) การปฏิบัติในระดับความรุนแรงของภัยพิบัติขั้น ๔ ภัยร้ายแรงอย่างยิ่ง   ผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (นายกรัฐมนตรี) จะออกคำสั่งจัดตั้งศูนย์อำนวยการช่วยเหลือผู้ประสบภัยซึ่งศูนย์บรรเทาสาธารณภัยของกองทัพไทยจะทำหน้าที่สนับสนุนอย่างใกล้ชิด โดยจะสั่งการแบ่งมอบพื้นที่รับผิดชอบให้กับหน่วยขึ้นตรงในการเข้าช่วยเหลือและบรรเทาสาธารณภัยให้กับประชาชนในพื้นที่วิกฤติอย่างรวดเร็วซึ่งจะลดการสูญเสียชีวิตของประชาชนในช่วงภัยพิบัติรุนแรงได้อย่างมากรวมทั้งการปฏิบัติงานร่วมกับฝ่ายทหารต่างประเทศและองค์กรระหว่างประเทศที่รัฐบาลอนุมัติให้เข้ามาปฏิบัติการทางด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติในประเทศไทย



ภาพกองทัพเรือช่วยเหลือประชาชนในมหาอุทกภัยปี ๕๔ 
 ๓)การปฏิบัติของหน่วยทหารหลังเกิดภัยพิบัติการฟื้นฟูบูรณะผู้ประสบภัยและโครงสร้างพื้นฐานเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของฝ่ายพลเรือนโดยมีกรมบรรเทาสาธารณภัยเป็นหน่วยปฏิบัติ สำหรับทหารให้การสนับสนุนส่วนราชการตามที่ได้รับการร้องขอ
ความร่วมมือในการจัดการภัยพิบัติของอาเซียน
     ในโอกาสที่ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ๑๐ ประเทศ จะรวมกลุ่มกันเข้าสู่ความเป็นประชาคมอาเซียน (ASEAN Community) ในปี ๕๘ เพื่อการส่งเสริมสันติภาพ สันติสุขและความมั่นคงในภูมิภาค ความตระหนักถึงผลกระทบของภัยพิบัติขนาดใหญ่ในภูมิภาคนี้ของประชาคมอาเซียน ภายหลังจากที่ภูมิภาคอาเซียนได้ถูกคลื่นสึนามิในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ ซึ่งสร้างความเสียหายและความสูญเสียอย่างร้ายแรงในหลายประเทศ อาทิ อินโดนีเซีย ประเทศไทยและพม่า นำไปสู่ประเทศสมาชิกอาเซียนได้ลงนามความตกลงอาเซียนว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติและการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน (ASEAN Agreement on Disaster Management and Emergency Response, AADMER) เมื่อ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๔๘ ซึ่ง AADMER เป็นกฎหมายระหว่างประเทศฉบับแรกและฉบับเดียวในโลกที่มีผลผูกพันประเทศที่เป็นภาคีเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม สาระสำคัญของ AADMER คือการกำหนดกรอบความร่วมมือด้านการจัดการภัยพิบัติของอาเซียนในลักษณะครบวงจรของการบริหารจัดการภัยพิบัติครอบคลุมทั้งในยามปกติ ก่อนเกิดภัย (การกำหนดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ การเฝ้าระวัง การแจ้งเตือนภัย การป้องกัน การเตรียมความพร้อม) ในขณะเกิดภัย (การตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน การบรรเทาทุกข์) ภายหลังเกิดภัย (เช่นการบูรณะฟื้นฟู) ตลอดจนความร่วมมือทางด้านวิชาการ การวิจัยทางวิทยาศาสตร์ การเสริมสร้างศักยภาพและขีดความสามารถ โดยมีศูนย์ประสานงานการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของอาเซียนหรือ AHA Centre ทำหน้าที่เป็นศูนย์ประสานงานกลางในการให้ความช่วยเหลือระหว่างประเทศสมาชิกเมื่อเกิดภัยพิบัติขนาดใหญ่ขึ้น และเอกสารมาตรฐานวิธีการปฏิบัติและระบบเตรียมความพร้อมด้านการประสานงานการบรรเทาทุกข์และการตอบโต้สถานการณ์ภัยพิบัติฉุกเฉินของอาเซียน หรือ SASOP (Standard Operating Procedure for Regional Standby Arrangements and Coordination of Joint Disaster Relief and Emergency Response Operations) เป็นแนวทางปฏิบัติของชาติสมาชิกเมื่อเกิดภัยพิบัติ 

 ภาพแนวทางการปฏิบัติของชาติสมาชิกเมื่อเกิดภัยพิบัติ
 ความร่วมมือทางทหารของประเทศสมาชิกอาเซียนในการจัดการภัยพิบัติร่วมกัน
         สำหรับความร่วมมือทางทหารของอาเซียนด้านการบรรเทาภัยพิบัติ ถือว่ามีความสำคัญโดยเป็นหัวข้อหลักในกรอบความร่วมมือกันด้านการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community) ซึ่งได้บรรจุไว้ในเวทีการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา(ASEAN Defense Ministers Meeting: ADMM – Plus) โดยล่าสุดได้มีการให้ความเห็นชอบการเป็นประธานร่วมของคณะทำงาน ADMM – Plus ในวงรอบปี ๒๕๕๗ ๒๕๕๙ ดังนี้ ๑) ความมั่นคงทางทะเล (บรูไน, นิวซีแลนด์) ๒) การแพทย์ทางทหาร (ไทย, สหพันธรัฐรัสเซีย) ๓) การปฏิบัติการรักษาสันติภาพ (กัมพูชา, สาธารณรัฐเกาหลี) ๔) การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ (สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว, ญี่ปุ่น) ๕) การต่อต้านการก่อการร้าย (สิงคโปร์, ออสเตรเลีย) และ ๖) ด้านการปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม (สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม, สาธารณรัฐอินเดีย)ซึ่งจากแนวโน้มจากความรุนแรงและผลกระทบของปัญหาภัยพิบัติที่ทุกชาติในอาเซียนเผชิญอยู่ในปัจจุบันได้ทำให้กองทัพของประเทศสมาชิกอาเซียนต้องปรับบทบาทจากการเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการพิทักษ์รักษาอำนาจอธิปไตย มาสู่ความเป็นองค์กรสนับสนุนในการพิทักษ์รักษาชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจากภัยธรรมชาติอีกด้วย ดังจะเห็นได้จากการพัฒนาและยกระดับการฝึกร่วมบรรเทาสาธารณภัยของกองทัพอาเซียนจากระดับทวิภาคีเป็นพหุภาคี เช่น การฝึกร่วมผสมกองทัพไทยและกองทัพมาเลเซีย (Joint Combined Exercise Thailand and Malaysia)  การฝึกร่วมบรรเทาสาธารณภัยไทย-กัมพูชา การฝึกร่วมบรรเทาสาธารณภัยของกองทัพอาเซียน ณ ประเทศบรูไน และการฝึกด้านมนุษยธรรมและบรรเทาสาธารณภัยของอาเซียน (ASEAN  HADR Multilateral Exercise)  ณ ประเทศไทย ทั้งนี้เป็นการเตรียมความพร้อมของกองทัพชาติสมาชิกอาเซียนในการบรรเทาภัยพิบัติร่วมกันเมื่อเกิดสถานการณ์จริง ซึ่งจะพัฒนาไปสู่แนวคิดการรวมกลุ่มเป็นกองกำลังอาเซียนด้าน HA/DR ในอนาคต ซึ่งได้มีการริเริ่มนำเสนอแนวคิดนี้แล้ว เช่น การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนครั้งที่ ๘ เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๗ ณ กรุงเนปีดอว์ ประเทศเมียนม่าร์ ได้มีการยกร่างเอกสารแนวความคิดเรื่องการใช้ทรัพยากรและศักยภาพทางทหารอาเซียนในการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ (Concept Paper on the Use of ASEAN Military Assets and Capacities in Humanitarian Assistance and Disaster Relief) โดยกระทรวงกลาโหมอินโดนีเซีย เพื่อใช้กำหนดเป็นแนวทางในการนำยุทโธปกรณ์และขีดความสามารถทางทหารมาใช้ในการบรรเทาภัยพิบัติและช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยของกองทัพประเทศอาเซียน 



ภาพการฝึกด้านมนุษยธรรมและบรรเทาสาธารณภัยของอาเซียน รหัส
AHEx 14 ณ ประเทศไทย

หลักพื้นฐานในการใช้กำลังทหารในภารกิจด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติ(HA/DR)[1]
นิยามของคำว่า ภัยพิบัติตามที่กำหนดไว้ใน IFRC IDRL Guidelines[2] คือ เหตุการณ์รุนแรงเป็นภัยที่เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุ ธรรมชาติและมนุษย์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพของมนุษย์ ทรัพย์สิน สิ่งแวดล้อมในระยะยาวโดยไม่ครอบคลุมถึงกรณีการขัดแย้งกันด้วยอาวุธ
หลักการในการใช้กำลังทหารในภารกิจ HA/DR เมื่อประเทศผู้ประสบภัยพิบัติ (Affected State) ได้ตอบรับความช่วยเหลือประเทศที่ให้ความช่วยเหลือ (Assisting State) โดยทั้งสองประเทศจะทำข้อตกลงในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติรวมทั้งจะจัดทำสถานะของกองกำลังในประเทศผู้ประสบภัยหรือ SOFA สำหรับชาติในอาเซียนจะปฏิบัติตามข้อตกลง AADMER และแนวทางปฏิบัติใน SASOP ทั้งนี้ทหารของชาติในอาเซียนมีบทบาทนำหลักในเรื่อง HA/DR โดยเป็นกลไกที่ทุกชาติในอาเซียนยอมรับความสำคัญ
         เมื่อกองกำลัง HA/DR ของประเทศที่ให้ความช่วยเหลือเข้าพื้นที่ภัยพิบัติ นอกจากปฏิบัติตามสถานะกองกำลังตามข้อตกลงดังกล่าวแล้วยังต้องเคารพวัฒนธรรม อำนาจอธิปไตย และปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายมนุษยธรรม กฎหมายและแผนบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติของประเทศที่ประสบภัย โดยยึดถือหลักปฏิบัติพื้นฐานด้านมนุษยธรรม ได้แก่ หลักมนุษยธรรม (Humanity) ความไม่ลำเอียง (Impartiality) ความเป็นกลาง (Neutrality) และหลักพื้นฐาน Do Not Harm อย่างเคร่งครัด  ตัวอย่างเช่นในเรื่อง การใช้ Force Protection จะใช้ตำรวจหรือทหารของประเทศประสบภัยพิบัติรับผิดชอบดูแลคุ้มครองความปลอดภัยของรถขนส่งยุทโธปกรณ์รวมทั้งท่าเรือ ที่พักหรือแค้มป์ของประเทศที่ให้ความช่วยเหลือเมื่อเข้าพื้นที่ประสบภัยพิบัติ เรื่องการตั้งโรงพยาบาลสนามในพื้นที่ประสบภัยต้องอยู่ในมาตรฐานสากลแล้วการใช้ยาต้องได้รับการอนุมัติจากหน่วยแพทย์ประเทศผู้ประสบภัยก่อนนำไปใช้กับผู้ประสบภัย สำหรับประเทศผู้ประสบภัยควรให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกแก่กองกำลังของประเทศที่ให้ความช่วยเหลือให้สามารถเข้าถึงพื้นที่ประสบภัยได้อย่างรวดเร็วเพื่อลดการสูญเสียชีวิตของผู้ประสบภัยซึ่งจะอยู่ในช่วงสัปดาห์แรกหลังภัยพิบัติเกิดขึ้น เช่น มาตรการศุลกากร(Custom) การเข้าเมือง (Immigration) การงดเว้นภาษี การสนับสนุนระบบขนส่ง การจัดตั้งศูนย์ประสานงานนานาชาติทั้งศูนย์ประสานงานทหาร-ทหารหรือ MNCC (Multi National Coordination Center) และศูนย์ประสานงานทหาร-พลเรือน Civil-Military Coordination Center (CMOC) เพื่อการประสานงานระหว่างประเทศผู้ประสบภัย ประเทศให้ความช่วยเหลือ องค์กรระหว่างประเทศ การทำแผนร่วม (Joint Plan) ในภารกิจช่วยผู้ประสบภัย งานมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติในพื้นที่ภัยพิบัติ สำหรับทหารจะถูกกำหนดออกมาเป็นคำสั่งปฏิบัติการซึ่งจะมีแนวคิดการปฏิบัติแยกออกเป็นขั้นตั้งแต่ ขั้นการเข้าประเทศผู้ประสบภัย   ขั้นการเคลื่อนย้ายกำลังเข้าพื้นที่ภัยพิบัติ  ขั้นปฏิบัติการ ขั้นการส่งมอบภารกิจและขั้นกลับประเทศ
รูปแบบการปฏิบัติการของทหารในภารกิจด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัตินอกประเทศนั้น ทหารควรจะมีบทบาทในลักษณะ Indirect Support เช่น การส่งมอบอาหารและยาให้กับองค์กร UN หรือองค์กรช่วยเหลือของประเทศผู้ประสบภัยเพื่อนำส่งต่อผู้ประสบภัยพิบัติ และการสนับสนุนในเรื่องการสาธารณสุขและโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Support) สำหรับการช่วยในลักษณะ Direct Support เช่น การส่งมอบอาหารและยาผู้ประสบภัยโดยตรงนั้นจะขัดกับหลักการในเรื่อง Last Resort ในเอกสาร OSLO Guideline ทั้งนี้อาจจะกระทำได้หากเป็นการปฏิบัติร่วมกับทหารชาติที่ประสบภัยหรือได้รับการร้องขอการช่วยเหลือจากประเทศประสบภัย
ขีดความสามารถของกองทัพไทยในการปฏิบัติการร่วมกับนานาชาติในภารกิจ HA/DR
กองทัพบก  ด้านการสนับสนุนของทหารช่าง (Infrastructure Support) เช่น สร้างสะพาน ถนน การค้นหาและช่วยชีวิตแบบ Jungle SAR และภัยพิบัติที่มาจากสารเคมีรั่วไหล (Chemical Leakage)
          กองทัพเรือ  กองทัพเรือมีเรือขนาดใหญ่ที่สามารถใช้เป็นฐานบัญชาการในการควบคุมบังคับบัญชาและการสื่อสาร ขีดความสามารถด้านการเป็นเรือพยาบาล การอพยพและช่วยเหลือผู้ประสบภัย เป็นฐานบินของเฮลิคอปเตอร์ และเป็นเรือขนส่งยุทโธปกรณ์ลำเลียงอาหารและเวชภัณฑ์สนับสนุนหน่วยช่วยเหลือด้านบรรเทาภัยพิบัติและช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของกำลังทางบกที่ไปปฏิบัติการบนบกได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้จากการที่เรือสามารถปฏิบัติการในทะเลได้นานทำให้กองทัพเรือมีขีดความสามารถในการดำรงอยู่ในสภาวะแวดล้อมในพื้นที่ปฏิบัติการที่ประสบภัยพิบัติในห้วงวิกฤติหลังภัยพิบัติซึ่งมีโรคระบาดและผลกระทบต่อเนื่องของภัยพิบัติ เช่น แผ่นดินไหว แผ่นดินถล่ม พายุถล่มในพื้นที่ ตัวอย่างเช่น ภารกิจการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์ สึนามิ ในปี ๔๗ ทั้งนี้ล่าสุดกองทัพเรือได้ขึ้นระวางประจำการเรือหลวงอ่างทองในปี ๕๕ ซึ่งมีภารกิจโดยตรงในการช่วยเหลือประชาชนในการบรรเทาสาธารณภัย ค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล การขนส่งลำเลียงทางทะเล เรือบัญชาการและฐานปฏิบัติการในทะเล จึงเป็นเครื่องยืนยันขีดความสามารถรองรับภารกิจด้านการบรรเทาสาธารณภัยนอกประเทศในภูมิภาคอาเซียนของกองทัพเรือได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นแนวคิดการใช้กำลังทางเรือเช่นเดียวกับยุทธศาสตร์ทางเรือของสหรัฐ จีน รวมไปถึงหลายชาติในอาเซียนซึ่งเห็นได้ชัดเจนในการที่สหรัฐ จีน สิงคโปร์ และมาเลเซียได้นำเรือเข้าร่วมการฝึกทางทหารอาเซียนด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติของอาเซียนที่ประเทศบรูไนในปี ๕๗ ที่ผ่านมา
          กองทัพอากาศ  การขนส่งลำเลียงทางอากาศ แพทย์ทหาร การเคลื่อนย้ายผู้ป่วยฉุกเฉินทางอากาศ
          หน่วยทหารพัฒนา บก.ทท. การช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากตึกถล่ม สนับสนุนด้านสาธารณูปโภค
การฝึกเตรียมความพร้อมของกองทัพไทยในภารกิจช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ
เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ในการเตรียมความพร้อมทั้งองค์วัตถุและองค์บุคคลของกองทัพไทยในการสนับสนุนการบรรเทาสาธารณภัยและจัดการภัยพิบัติของรัฐบาล และภายใต้กรอบความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงทั้งระดับอาเซียนและความร่วมมือกับนานาชาติ สำนักวางแผนการฝึกร่วมและผสม กรมยุทธการทหาร ซึ่งเป็นหน่วยหลักในระดับนโยบายด้านการฝึกของกองทัพไทย จึงได้นำแผนบรรเทาสาธารณภัยกองทัพไทย ระเบียบปฏิบัติ และหลักปฏิบัติประจำ (SOP) ภายใต้กรอบความร่วมมือทั้งในและต่างประเทศ นำมาใช้ในการจัดการฝึกและการเข้าร่วมการฝึกการบรรเทาสาธารณภัยและจัดการภัยพิบัติทั้งในและนอกประเทศซึ่งเป็นการเสริมสร้างองค์ความรู้ ความเข้าใจ ประสบการณ์และเตรียมความพร้อมของกำลังพล เครื่องมือและยุทโธปกรณ์ทางทหารที่ใช้ในการบรรเทาสาธารณภัยอันจะนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกันกับภาคพลเรือน รัฐบาล มูลนิธิ องค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเป็นการลดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนหากเกิดภัยพิบัติที่รุนแรงเกิดขึ้นจริง รวมทั้งการพัฒนาและยกระดับการฝึกร่วมบรรเทาสาธารณภัยของกองทัพอาเซียนจากระดับทวิภาคีเป็นพหุภาคี โดยการฝึกเป็นการทบทวนขั้นตอน/วิธีการปฏิบัติในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติของอาเซียนและมิตรประเทศ การทดสอบการใช้ขีดความสามารถทางทหารในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติภายใต้กรอบความตกลงอาเซียนด้านจัดการภัยพิบัติและตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ AADMER การบูรณาการทรัพยากรและเครื่องมือที่มีอยู่ให้สามารถสนับสนุนซึ่งกันและกันได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยมี กองทัพไทย ส่วนราชการ พลเรือน ภาคประชาสังคม ชาติในอาเซียน มิตรประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่ UNOCHA , AHA Center , IFRC เข้าร่วมการฝึก ได้แก่  การฝึกซ้อมการบรรเทาภัยพิบัติ ในกรอบการประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในปี ๕๖ (ASEAN Regional Forum Disaster Relief Exercise :ARF DiRex) จ.เพชรบุรี การฝึกด้านมนุษยธรรมและบรรเทา สาธารณภัยของอาเซียน ปี ๕๗ (ASEAN  HADR Multilateral Exercise . ฉะเชิงเทรา และการฝึกทางทหารอาเซียนด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติของอาเซียนและการฝึกแพทย์ทหาร (ASEAN Defence  Ministers’ Meeting-Plus Humanitarian Assistance & Disaster Relief and Military Medicine Exercise (ADMM-PLUS HADR & MM EX) ณ ประเทศบรูไน ทั้งนี้เป็นการเตรียมความพร้อมของกองทัพชาติสมาชิกอาเซียนในการบรรเทาภัยพิบัติร่วมกันเมื่อเกิดสถานการณ์จริง ซึ่งจะพัฒนาไปสู่แนวคิดการรวมกลุ่มเป็นกองกำลังอาเซียนด้าน HA/DR


ภาพการฝึก ASEAN Defense Ministers’ Meeting-Plus Humanitarian Assistance & Disaster Relief ,Military Medicine Exercise (ADMM+ HADR & MM EX) or 2nd AHX Exercise ปี ๕๖ ประเทศบรูไน
กองทัพเรือกับภารกิจการบรรเทาสาธารณภัย
   จากเหตุผลข้างต้น สามารถสรุปความจำเป็นที่กองทัพเรือควรต้องเสริมสร้างขีดความสามารถและความพร้อมของกำลังพลและยุทโธปกรณ์ในภารกิจบรรเทาภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในและนอกประเทศ ไว้ดังนี้
กรณีเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติเกิดขึ้นในประเทศไทย ภารกิจบรรเทาสาธารณภัยของกองทัพเรือได้  ถูกระบุไว้ใน . รัฐธรรมนูญ (กองทัพไทยหน้าที่ในการพัฒนาประเทศ) ๒. ร่างยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติทางทะเล (๕๘-๖๒) ๓. แผนบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ และ ๔. แผนบรรเทาสาธารณภัยกระทรวงกลาโหม 

ภาพการแบ่งพื้นที่รับผิดชอบให้กองทัพเรือตามแผนบรรเทาสาธารณภัยกระทรวงกลาโหมปี ๕๔
๑.  กรณีเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติเกิดขึ้นในภูมิภาคอาเซียน กองทัพประเทศสมาชิกอาเซียนถูกระบุให้เป็นหน่วยงานสำคัญในความร่วมมือกันจัดการภัยพิบัติร่วมกันโดยระบุว่ามีผลผูกพัน(ต้องปฏิบัติ)ในข้อตกลง AADMER[1] และกำหนดแนวทางการปฏิบัติร่วมกัน (SOP) ไว้ในเอกสาร SASOP ซึ่งกองทัพประเทศอาเซียนได้นำมาบรรจุไว้ในแผนงานความร่วมมือทางทหารในที่ประชุม รมว.กห.อาเซียน เพื่อการปฏิบัติอันเป็นรูปธรรม

๒. ภัยพิบัติธรรมชาติมีแนวโน้มการเกิดที่ถี่ขึ้น รุนแรงและมีผลกระทบต่อหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียนเนื่องจากเราไม่สามารถควบคุมธรรมชาติและทำนายการเกิดภัยพิบัติได้อย่างชัดเจน จึงนับว่าเป็น    ภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศและความมั่นคงในภูมิภาคอาเซียนที่สำคัญดังนั้นการเตรียมความพร้อมของกำลังของกองทัพเรือตั้งแต่ในภาวะปกติ โดยเฉพาะการฝึกทั้งในและต่างประเทศ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น

  จากเหตุผล๓ ข้อข้างต้น กองทัพเรือจึงมีความจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมในภารกิจบรรเทาภัยพิบัติ (Disaster Relief: DR) ซึ่งรวมไปถึงการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม (Humanitarian Assistance :HA)ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญและข้อตกลงของอาเซียนทั้งนี้บทบาทในการบรรเทาภัยพิบัตินี้ หากกองทัพเรือสามารถปฏิบัติภารกิจ HA/DR ทั้งในประเทศและในอาเซียนได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นผู้นำ จะสามารถทำให้กองทัพเรือบรรลุวิสัยทัศน์หน่วยงานความมั่นคงที่มีบทบาทนำในภูมิภาคและบรรลุคุณค่าประชาชนที่ประชาชน(ไทยและประชาคมอาเซียน)เชื่อมั่นและภาคภูมิใจได้เป็นรูปธรรมมากที่สุด

ขีดความสามารถกองทัพเรือในภารกิจการบรรเทาภัยพิบัติทั้งในประเทศและนอกประเทศ
กรณีเกิดเหตุภัยพิบัติในประเทศ
๑. ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพเรือ(ศบภ.ทร.) ขีดความสามารถที่ต้องการได้แก่ การทำงานและการวางแผนร่วมกับกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระดับจังหวัดจนถึงกองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติเมื่อเกิดเหตุการณ์ในระดับ ๓-๔ ตามแผนบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ และการจัดทำแผนสนับสนุนหน่วยงานที่เข้าปฏิบัติงานในพื้นที่ภัยพิบัติ เช่น แผนการส่งกำลังบำรุง แผนการส่งมอบสิ่งของช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เช่นอาหาร น้ำดื่ม ยารักษาโรค ให้ผู้ประสบภัยในพื้นที่ประสบภัย
๒.     กองเรือยุทธการ รับผิดชอบเตรียมกำลังทางเรือในขีดความสามารถ
ก. การเคลื่อนย้ายกำลัง มว.เรือช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากที่ตั้งปกติไปสู่พื้นที่ภัยพิบัติ
ข. การลำเลียงกำลังพลและยุทโธปกรณ์สิ่งของช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม การส่งกำลังบำรุง  การลำเลียงเข้าสู่พื้นที่ภัยพิบัติด้วยกำลังทางบก กำลังทางเรือและอากาศนาวี

ค. การจัดตั้งระบบสื่อสารในพื้นที่ประสบภัยวิกฤติ
ง.เมื่อเกิดภัยพิบัติความรุนแรงในระดับ ๓- เช่น พายุไต้ฝุ่น ซึ่งจังหวัดไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้และรัฐบาลได้สั่งการให้กองทัพเรือรับผิดชอบในพื้นที่เกาะ กองทัพเรือต้องสถาปนาเรือธงเป็น ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์วิกฤติ (Incident Command Center :ICC) หรือ ศบภ.ทร.ส่วนหน้า  ในการบัญชาการ วางแผน และสั่งการในการแก้ปัญหาในพื้นที่ภัยพิบัติบนบก รวมทั้งการจัดตั้งฐานส่งกำลังบำรุง พื้นที่รวบรวมผู้ป่วยเพื่อการส่งกลับสายแพทย์  ฐานสื่อสาร ศูนย์ผู้ประสบภัยส่วนหน้า ในพื้นที่ภัยพิบัติ
จ.การสนับสนุนการปฏิบัติการบนบกของกองทัพไทย ได้แก่ ขีดความสามารถในการเป็นฐานส่งกำลัง เป็นฐานรับ-ส่ง ฮ. และการลำเลียงกำลังพล สิ่งของ ยุทโธปกรณ์ขึ้นฝั่ง
ฉ.การจัดการทีม NAST (Navy Assessment Team) ชุดผู้เชี่ยวชาญการประเมิน/วิเคราะห์ความเสียหาย/ขีดความสามารถและความต้องการของผู้ประสบภัยในพื้นที่วิกฤติเพื่อนำข้อมูลมาจัดทำแผนในการค้นหาช่วยชีวิต การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติของศูนย์บัญชาการเหตุการณ์
ช.หน่วยสงครามพิเศษทางเรือ ขีดความสามารถค้นหาและช่วยชีวิตในทะเล(Maritime SAR)
๓.กรมแพทย์ทหารเรือ ขีดความสามารถในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามบนเรือการส่งกลับ    สายแพทย์ด้วยอากาศยานและเรือ (MEDVAC, CASVAC) การควบคุมโรคระบาดบนเรือ และบนบกในพื้นที่ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบภาวะวิกฤตสุขภาพจิตและการบริการทางการแพทย์อื่นๆที่เกี่ยวกับภารกิจ HA/DR
๔.หน่วยบัญชาการนาวิกโยธินขีดความสามารถการค้นหาและช่วยชีวิตบนบก( SAR) การอพยพประชาชนจากเกาะขึ้นสู่เรือ (HA/DR NEO) การรักษาความปลอดภัย (Force Protection)
๕.ฐานทัพเรือสัตหีบ ขีดความสามารถสร้างระบบสาธารณูปโภค สุขาภิบาล การปรับพื้นที่
๖. หน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง ขีดความสามารถในการซ่อมสร้าง
๗. กรมวิทยาศาสตร์ทหารเรือ ขีดความสามารถในเรื่องการแก้ไขปัญหาสารเคมีรั่วไหล
๘. กรมสรรพาวุธทหารเรือขีดความสามารถการค้นหาและช่วยชีวิตในทะเล (Maritime SAR)
       กรณีเกิดเหตุภัยพิบัตินอกประเทศ ตามที่ได้บรรยายไว้ในหัวข้อขีดความสามารถของกองทัพไทยในการปฏิบัติการร่วมกับนานาชาติในภารกิจ HA/DR ข้างต้น
การเสริมสร้างขีดความสามารถของกองทัพเรือในภารกิจการบรรเทาภัยพิบัติ
     ปัจจุบันกองทัพเรือนับว่ามีความพร้อมของยุทโธปกรณ์ในการรองรับภารกิจการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติทั้งในประเทศและในภูมิภาคอาเซียนได้ในระดับดีอย่างไรก็ตามปัญหาที่สำคัญคือ การขาดความเชี่ยวชาญของกำลังพลกองทัพเรือในองค์ความรู้และประสบการณ์ในการบริหาร การวางแผนและจัดการภัยพิบัติในประเทศในระดับความรุนแรง๓-๔ ซึ่งไม่เฉพาะกองทัพเรือแต่เป็นในทุกหน่วยงานในแผนบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติซึ่งเห็นได้ชัดเจนจากบทเรียนของศูนย์บริการสถานการณ์วิกฤติกรณีมหาอุทกภัยพิบัติน้ำท่วมในปี ๕๔  ซึ่งทางแก้ไขปัญหานี้ได้แก่ การฝึกซ้อมด้านการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติร่วมกันของทุกภาคส่วนทั้งทหาร หน่วยงานราชการ ภาคพลเรือน มูลนิธิ หน่วยงานต่างประเทศ เช่น กาชาดสากล หน่วยงานภายใต้สหประชาชาติ และอาเซียน เป็นต้น สำหรับในกรณีการส่งกำลังเข้าปฏิบัติภารกิจ HA/DR นอกประเทศนั้น กำลังพลควรต้องมีทักษะภาษาอังกฤษและความรู้ในระดับยุทธวิธีเรื่องการช่วยเหลือชีวิตผู้ประสบภัยและการบรรเทาภัยพิบัติเป็นอย่างดีรวมทั้งทักษะและประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับนานาชาติในศูนย์ประสานงานนานาชาติ (Multi -National Coordination Center: MNCC) ซึ่งเน้นการปฏิบัติการร่วมทหาร - ทหาร และงานการประสานงานการปฏิบัติร่วมกับศูนย์ประสานงานพลเรือน - ทหาร (Civil - Military Coordination Center : CMCC) ซึ่งหมายถึงการมีองค์ความรู้ในเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายด้านมนุษยธรรมเอกสารหลักปฏิบัติการร่วมนานาชาติในการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ ได้แก่ ASEAN SASOP, MNF SOP , APC MADRO และ Oslo Guidelines ได้เป็นอย่างดี
 
การฝึกด้านบรรเทาสาธารณภัยในการฝึกกองทัพเรือปี ๕๘    
    กองทัพเรือได้อนุมัติแนวทางการจัดการฝึกกองทัพเรือประจำปี ๕๘ โดยเป็นการฝึกในลักษณะบูรณาการการฝึกร่วมกันระหว่างหน่วยต่างๆ โดยมีกรมยุทธการทหารเรือรับผิดชอบการฝึกและกองเรือยุทธการเป็นหน่วยควบคุมและประเมินผลการฝึก ทั้งนี้ในปีนี้ผู้บัญชาการทหารเรือได้สั่งการให้มีการฝึกด้านการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ โดยมีวัตถุประสงค์การฝึกเพื่อทดสอบขีดความสามารถกองทัพเรือ  อันจะเป็นแนวทางในการเตรียมความพร้อมสำหรับภารกิจการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติของกองทัพเรือทั้งในและนอกประเทศต่อไป สถานการณ์การฝึก: เกิดภัยพิบัติจากพายุไต้ฝุ่นขนาดใหญ่กลางอ่าวไทยส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อหลายจังหวัดทางภาคใต้ตอนล่าง จนทำให้ศูนย์อำนวยการระดับจังหวัดไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ รัฐบาล/บก.ปภ.ชาติ (กองบัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ) ได้ประกาศยกระดับภัยพิบัติขึ้นเป็นระดับ ๓ และได้สั่งการให้กองทัพไทยเข้าสนับสนุนโดยกองทัพเรือได้รับมอบหมายให้เป็น ผบ.เหตุการณ์ในการควบคุมการปฏิบัติและรับผิดชอบเกาะสมุยซึ่งเป็นจุดที่พายุเข้าโดยตรงและมีความเสียหายมากที่สุด การฝึกแบบเต็มรูปแบบครั้งนี้ ประกอบด้วยการบรรยายโดยผู้เชี่ยวชาญ การประชุม Workshop เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ การประชุม Table Top จำลองสถานการณ์เพื่อทำการฝึกการวางแผนและการบริหารงานในสถานการณ์วิกฤติตามแนวคิดใช้เรือบัญชาการเป็นศูนย์บริการสถานการณ์วิกฤติส่วนหน้า ตลอดจนการฝึกปัญหาที่บังคับการเพื่อทดสอบขีดความสามารถของหน่วยต่างในด้านการบรรเทาภัยพิบัติของกองทัพเรือ จนถึงการฝึก FTX ณ เกาะสมุย เพื่อทดสอบแผนและการปฏิบัติงานจริงของหน่วยจึงนับว่าเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพเรือในเรื่องการบรรเทาภัยพิบัติ ซึ่งเห็นควรที่จะบรรจุการฝึกด้าน HA/DR นี้ในการฝึกของกองทัพเรือทุกปีต่อไป รวมทั้งขยายขอบเขตการฝึกขึ้นเป็นการฝึกในระดับการฝึกการบริหารงานในสถานการณ์วิกฤติของศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพเรือและทัพเรือภาคโดยเชิญหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้องตามแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเข้าร่วมการฝึกต่อไป
บทสรุป
        แม้ว่าแนวโน้มสถานการณ์และภัยพิบัติจะมีมากขึ้นซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศซึ่งไม่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้นแต่รวมไปถึงกลุ่มประเทศอาเซียนและทั่วโลกด้วย ปัญหาในเรื่องการจัดการภัยพิบัติเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยการบูรณาการทุกภาคส่วนหรือการผนึกกำลังกัน บทเรียนภัยพิบัติที่เกิดขึ้นแม้จะสร้างความสูญเสียทั้งชีวิต ทรัพย์สิน ระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย แต่เราก็ได้เรียนรู้ที่จะเตรียมความพร้อมโดยเฉพาะกองทัพเรือซึ่งมีเครื่องมือยุทโธปกรณ์ กำลังพล และเรือที่มีขีดความสามารถในการเข้าถึงพื้นที่ภัยพิบัติและความดำรงขีดความสามารถหน่วยในพื้นที่เสี่ยงภัย (Mobility and Survivability) จากผลกระทบของสภาวะแวดล้อมอันเนื่องมาจากภัยพิบัติโดยเฉพาะเรื่องโรคระบาดจากศพ

           กองทัพเรือมีหน้าที่ต้องปฏิบัติภารกิจด้านการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติในประเทศตามที่ถูกระบุเรื่องหน้าที่ไว้ในรัฐธรรมนูญ  ระบุเรื่องแนวทางการปฏิบัติไว้ในแผนบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ร่างยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติทางทะเล (๕๘-๖๐) และต้องปฏิบัติตามความตกลงอาเซียนว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติและการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน (ASEAN Agreement on Disaster Management and Emergency Response, AADMER) ซึ่งรัฐบาลไทยได้ลงนามไว้และกำหนดแนวทางความร่วมมือทางทหารไว้ในเอกสารมาตรฐานวิธีการปฏิบัติและระบบเตรียมความพร้อมด้านการประสานงานการบรรเทาทุกข์และการตอบโต้สถานการณ์ภัยพิบัติฉุกเฉินของอาเซียน หรือ SASOP  ดังนั้นการเตรียมพร้อมของกำลังพล/ยุทโธปกรณ์ การซักซ้อมแผนและการฝึกร่วม/ผสมทั้งในและต่างประเทศในหัวข้อด้านการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ  จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากในการพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพเรือให้อยู่ในระดับมาตรฐานสากลที่สามารถเป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาให้รัฐบาลและช่วยเหลือประชาชนได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพสามารถไปปฏิบัติงานร่วมกับนานาชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะทำให้กองทัพเรือบรรลุวิสัยทัศน์และคุณค่าของกองทัพเรือที่ตั้งไว้ได้อย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุด อีกทั้งการปฏิบัติการทางทหารในเรื่องการบรรเทาภัยพิบัติยังสามารถลดความหวาดระแวงของประเทศเพื่อนบ้านในเรื่องการแข่งขันการสะสมอาวุธ ตลอดจนช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนและนานาชาติ ซึ่งจะเป็นการสร้างชื่อเสียงและภาพลักษณ์ของประเทศไทยและกองทัพเรือได้เป็นอย่างดี 
_________________________________________________
       อ้างอิง/ที่มาข้อมูลการเขียนบทความ

บทเรียน/ประสบการณ์ผู้เขียนในการเข้าร่วมและออกแบบการฝึกด้าน HA/DR 
๑.๑ เข้าร่วมการฝึกในตำแหน่งส่วนควบคุมการฝึก การฝึก ASEAN Defense Ministers’ Meeting-Plus Humanitarian Assistance & Disaster Relief ,Military Medicine Exercise (ADMM+ HADR & MM EX) or 2nd AHX Exercise ปี ๕๖ ซึ่งกองทัพบรูไนเป็นเจ้าภาพ ณ ประเทศบรูไน
๑.๒ ออกแบบการฝึก CPX (สร้างสถานการณ์ จัดทำโปรแกรมและวางระบบฝึก) และเป็น Facilitator ควบคุมการฝึก CPX การฝึก ASEAN Regional Forum Disaster Relief Exercise (ARF DiREX 13) ปี ๕๖ โดยประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ มี ๑๗ ประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ เข้าร่วมการฝึก ณ จว.เพชรบุรี
๑.๓ ออกแบบการฝึก CPX (สร้างสถานการณ์ จัดทำโปรแกรมและวางระบบฝึก จัดทำเอกสาร SOP ) และเป็น Facilitator ควบคุมการฝึก CPX การฝึก ASEAN Humanitarian Assistance & Disaster Relief Exercise (AHEX 14) ปี ๕๖ โดยกองทัพไทยและกองทัพมาเลเซียเป็นเจ้าภาพร่วม โดยมี กองทัพไทย ส่วนราชการ พลเรือน ภาคประชาสังคม ชาติในอาเซียนและมิตรประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี ออสเตรเลีย สหรัฐฯ ชาติในอาเซียนและ องค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่ UNOCHA , AHA Center , IFRC เข้าร่วมการฝึก ณ จว.ฉะเชิงเทรา
๑.๔ เข้าร่วมการฝึกในตำแหน่ง หน.กลุ่มวางแผน PKO และ NEO การฝึก MPAT Tempest Express Staff Planning Workshop (TE-25) ปี ๕๗ ณ ศูนย์สันติภาพกองทัพมาเลเซีย ประเทศมาเลเซีย
๑.๕ ออกแบบการฝึก CPX (สร้างสถานการณ์ จัดทำโปรแกรมและวางระบบฝึก จัดทำเอกสาร SOP ) และเป็น Facilitator ควบคุมการฝึก CPX การฝึกบรรเทาสาธารณภัยร่วมตามนโยบายนายกฯ ปี ๕๗ กองทัพไทย เป็นเจ้าภาพ โดยมีหน่วยงานรัฐบาล พลเรือน ทหาร ร่วมฝึก ณ บก.ทท.และการฝึกบรรเทาสาธารณภัยร่วม JDMEx 2015 โดยกองทัพไทยร่วมกับ ปภ. เป็นเจ้าภาพร่วม ปี ๕๘ ณ จว.เชียงราย
๑.๖ เข้าร่วมในตำแหน่งส่วนควบคุมการฝึก CPXการฝึกซ้อมบริหารวิกฤตการณ์ระดับชาติ (Crisis Management Exercise : CMEX 13) สภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นเจ้าภาพ จัดขึ้นที่ จว.ระยอง

๒. เอกสารอ้างอิงในการเขียนบทความ
๒.๑ พระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. ๒๕๕๐
๒.๒ แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๓ – ๒๕๕๗
๒.๓ แผนบรรเทาสาธารณภัยกระทรวงกลาโหมและ แผนบรรเทาสาธารณภัย ศบภ.บก.ทท.
๒.๔ เอกสาร ASEAN Agreement on Disaster Management and Emergency Response
๒.๕ เอกสาร ASEAN SASOP
๒.๖ เอกสาร ASEAN Regional Forum Strategic Guidance for HA/DR
๒.๗ เอกสารแผนงานจัดตั้งประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ASEAN Political - SecurityCommunity (APSC) Blueprint
๒.๘ เอกสาร ICS-400: Advanced ICS for Command and General Staff, Complex Incidents   and MACS for Operational First Responders (H-467), US FEMA
๒.๙ เอกสาร MNF SOP Humanitarian Assistance Disaster Relief (HA/DR) Extract
๒.๑๐ เอกสาร HA/DR Operations Planning, US Navy
๒.๑๑ เอกสาร Asia-Pacific Regional Guidelines For The Use Of Foreign Military Assets
        In Natural Disaster Response Operations
๒.๑๒ เอกสาร Guidelines On The Use of Foreign Military and Civil Defence Assets In
        Disaster Relief - “Oslo Guidelines” ,UNOCHA

ติดต่อ นาวาเอก พิสุทธิ์ศักดิ์ ศรีชุมพล  รอง ผอ.กองควบคุมการฝึก สำนักวางแผนการฝึกร่วมและผสม
กรมยุทธการทหาร บก.ทท. โทร 0892026465

[1]ความตกลงอาเซียนว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติและการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน (ASEAN Agreement on Disaster Management and Emergency Response, AADMER) เมื่อ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๔๘ ซึ่ง AADMER เป็นกฎหมายระหว่างประเทศฉบับแรกและฉบับเดียวในโลกที่มีผลผูกพันประเทศที่เป็นภาคีเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม สาระสำคัญของ AADMER คือการกำหนดกรอบความร่วมมือด้านการจัดการภัยพิบัติของอาเซียนในลักษณะครบวงจรของการบริหารจัดการภัยพิบัติตั้งแต่ก่อนเกิดภัยพิบัติ ระหว่างเกิดภัยพิบัติจนถึงหลังการเกิดภัยพิบัติ


[1] เอกสารอ้างอิง Asia-Pacific Regional Guidelines For The Use Of Foreign Military Assets In Natural Disaster Response Operations
Guidelines On The Use of Foreign Military and Civil Defence Assets In Disaster Relief - “Oslo Guidelines”
[2] นิยาม Disaster – “[A] serious disruption of the functioning of society, which poses a significant, widespread threat to human life, health, property or the environment, whether arising from accident, nature or human activity, whether developing suddenly or as the result of long-term processes, but excluding armed conflict.”

[1] แผนบรรเทาสาธารณภัย ศูนย์บรรเทาสาธารณภัย กองบัญชาการทหารสูงสุด พ.ศ. ๒๕๕๐
[1] แผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ ๒๕๕๓-พ.ศ ๒๕๕๗
[1]  ที่มาเว้ปไซด์ วิถิพีเดีย http://th.wikipedia.org/wiki/อุทกภัยในประเทศไทย_.._2554


บทความล่าสุดที่เผยแพร่

การแขวนพระตามพื้นดวงเกิดและการเร่งพุทธคุณพระเครื่องด้วยหลักการอิทธิบาทสี่

  การแขวนพระตามพื้นดวงเกิดและการเร่งพุทธคุณพระเครื่องที่แขวนประจำตัวด้วยหลักการอิทธิบาทสี่ นะโมวิมุตตานัง นะโมวิมุตติยา ความนอบน้อมของข้าฯ จ...

บทความที่ได้รับความนิยม