วันอาทิตย์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2557

“กองทัพเรือกับแนวทางการเพิ่มบทบาทกองทัพเรือชั้นนำในประชาคมอาเซียน”




กองทัพเรือกับแนวทางการเพิ่มบทบาทกองทัพเรือชั้นนำในประชาคมอาเซียน

โดย นาวาเอก พิสุทธิ์ศักดิ์ ศรีชุมพล

       สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of Southeast Asian Nations หรือ ASEAN) ก่อตั้งขึ้นตามปฏิญญากรุงเทพ[1] (The Bangkok Declaration) เมื่อ ๘ ส..๒๕๑๐ เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ส่งเสริมสันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาคและส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับต่างประเทศ,องค์กรระหว่างประเทศ


ภาพผู้นำอาเซียน๕ ประเทศร่วมลงนามในปฏิญญากรุงเทพ (Bangkok Declaration) 

       นับถึงปัจจุบันถ้าเปรียบเทียบกับอายุคนอาจจะกล่าวได้ว่าอาเซียนได้ย่างเข้าสู่วัยกลางคนคือมีอายุได้ ๔๗ ปี ซึ่งในช่วงการพัฒนาเกือบครึ่งศตวรรษนี้ อาเซียนกำลังเริ่มเข้าสู่ช่วงสำคัญในการรวมกลุ่มประเทศกันเป็นประชาคมเดียวกันตามที่ผู้นำประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ลงนามร่วมกันในปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียนที่เรียกว่าปฏิญญาบาหลี ๒ (Bali Concord II) ซึ่งได้กำหนดให้ในปี ๕๘ ชาติ ในกลุ่มอาเซียนทั้ง ๑๐ ประเทศจะรวมกลุ่มกันเป็นประชาคม (ASEAN Community) ตามคำขวัญของอาเซียนในกฎบัตรสมาคมแห่งประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือ "วิสัยทัศน์เดียว อัตลักษณ์เดียว ประชาคมเดียว”(One Vision, One Identity, One Community) โดยจะมีความเป็นรูปธรรมในเรื่องความร่วมมือโดยได้กำหนดเสาหลัก (Pillar) เพื่อค้ำยันความเป็น “ครอบครัวเดียวกัน” ไว้ ๓ ด้าน คือคือ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และประชาคมสังคมวัฒนธรรมอาเซียน ซึ่งไม่เน้นภาครัฐและภาคเอกชนเท่านั้น แต่ประชาชนของประเทศอาเซียนจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมตามวิสัยทัศน์ร่วมของผู้นำอาเซียน คือ "การสร้างประชาคมอาเซียนที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง มีกฎเกณฑ์กติกาที่ชัดเจน และมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง" เพื่อสร้างประชาคมที่มีความแข็งแกร่ง สามารถสร้างโอกาสและรับมือสิ่งท้าทายทั้งด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ และภัยคุกคามรูปแบบใหม่ เพิ่มอำนาจต่อรองและขีดความสามารถการแข่งขันของอาเซียนในเวทีระหว่างประเทศทุกด้าน โดยให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดี สามารถประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้สะดวกมากขึ้น และประชาชนในอาเซียนมีความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน นอกจากนี้ ยังมีการเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างกันในอาเซียน ใน ๓ มิติ คือ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน ด้านกฎระเบียบ และความเชื่อมโยงระหว่างประชาชน ทั้งนี้เสาหลักประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ซึ่งหน่วยงานรับผิดชอบหลักคือทหารของแต่ละประเทศอาเซียนนั้น ดูเหมือนมีบทบาทสำคัญในปัจจุบันในภาวะที่ภูมิภาคอาเซียนตกอยู่ในพื้นที่อิทธิพลและแสวงหาผลประโยชน์ของประเทศมหาอำนาจที่เข้ามาสร้างอำนาจทางการเมืองต่างประเทศ ทำให้กองทัพของประเทศอาเซียนต้องปรับตัวเพิ่มบทบาทความร่วมมือทางการทหารร่วมกันทั้งทวิภาคีและพหุภาคีผ่านกลไกอาเซียนในการพยายามสร้างสภาวะแวดล้อมความมั่นคงและปลอดภัยเพื่อเอื้อต่อระบบการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งจะช่วยระบบเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในประชาคมอาเซียนตามวิสัยทัศน์ข้างต้น ดังนั้นจึงอาจจะสรุปได้ว่า เสาหลักประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน คือ “หลักประกันการรักษาผลประโยชน์ของชาติอาเซียนร่วมกัน”
สภาวะแวดล้อมความมั่นคงที่ส่งผลกระทบต่อเสาหลักประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ได้แก่

๑.   กำลังอำนาจทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) หรือการเมืองซึ่งอาศัยภูมิศาสตร์เป็นหลัก[2]  แล้วจะพบว่าภูมิภาคอาเซียนตั้งอยู่บนจุดยุทธศาสตร์โลก เป็นที่รวมของผลประโยชน์ของประเทศมหาอำนาจของโลกและเป็นตำบลที่กึ่งกลางระหว่างประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ (อินเดีย ปากีสถาน เกาหลีเหนือ จีน) ทั้งนี้หากจะพิจารณาในเรื่องการเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์และอิทธิพลในภูมิภาคนี้จากประวัติศาสตร์ของชาติอาเซียน    ซึ่งผู้เขียนขอแบ่งออกเป็น ๔ ยุค ได้แก่ 
. ยุคล่าอาณานิคม ๙ ประเทศอาเซียนยกเว้นประเทศไทยได้เคยตกเป็นอานานิคมของอังกฤษ ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ สเปน สหรัฐอเมริกา
.ยุคสงครามเย็นเป็นดินแดนการเผชิญหน้ากันระหว่างมหาอำนาจโลกเสรีประชาธิปไตย ซึ่งมีสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำและโลกคอมมิวนิสต์ ซึ่งมีสหภาพโซเวียตเป็นผู้นำ จนถึงการล่มสลายของสหภาพโซเวียตเข้าสู่ 
.ยุคสหรัฐเป็นอภิมหาอำนาจแบบขั้วอำนาจเดี่ยว[3] (US – Unipolarity) ซึ่งสหรัฐมีอำนาจทางทหาร การเมือง เศรษฐกิจและเทคโนโลยีเหนือทุกประเทศในขณะนั้น ซึ่งได้ทำให้สหรัฐได้โอกาสในการจัดระเบียบโลกใหม่ (New World Order) บนพื้นฐานผลประโยชน์ของสหรัฐ[4] สำหรับในยุคนี้อาเซียนต้องเผชิญกับนโยบายต่างประเทศสหรัฐในการรักษาผลประโยชน์ของชาติสหรัฐควบคู่ไปกับการมีอิทธิพลทางทหารในการจัดการด้านความมั่นคงในภูมิภาค ซึ่งไม่เฉพาะอาเซียนเท่านั้นแต่ในเกิดขึ้นในหลายภูมิภาค เช่น ในตะวันออกกลางและทวีปแอฟริกา แต่หลังเหตุการณ์ที่สหรัฐอเมริกาและอังกฤษพยายามใช้กำลังขับไล่นาย ซัดดัม ฮุสเซ็น แห่งอิรักในต้นปี ค.ศ.๒๐๐๓ ซึ่งฝรั่งเศส เยอรมนี รัสเซียและจีนได้คัดค้านการทำสงครามครั้งนี้ ทำให้ประเทศจีนซึ่งอาศัยระบบเศรษฐกิจที่กำลังเติบโตในระดับเดียวกับสหรัฐและเริ่มก้าวเข้ามาสู่การเป็นมหาอำนาจดาวรุ่ง (Rising Power) ของโลกได้จับมือเป็นพันธมิตรร่วมกับรัสเซีย (Strategic Cooperative Partnership) เพื่อลดอิทธิพลและถ่วงดุลอำนาจสหรัฐในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ และเริ่มเข้ามาสร้างความร่วมมือและความสัมพันธ์กับชาติอาเซียนซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่ติดพรมแดนจีน ทำให้นายบารักโอบามาประธานาธิบดีสหรัฐ ได้นำนโยบาย"การปรับ      สมดุลย" (Rebalancing Policy) มาใช้กับประเทศในอาเซียนและภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก เพื่อการปิดล้อมจีนและการกลับมาสูการมีอิทธิพลในภูมิภาคนี้ของสหรัฐฯ อีกครั้ง ทำให้ปัจจุบันนี้ภูมิภาคนี้กลายเป็นพื้นที่ Political – Military Buffer Zone ในการแสดงกำลังอำนาจทางการทหารและการเมืองระหว่างประเทศสหรัฐ-จีน โดยสหรัฐได้เพิ่มมาตรการในการสร้างพันธมิตรร่วมในความร่วมมือด้านความปลอดภัยและเสริมสร้างเสถียรภาพความมั่นคงในภูมิภาคและแสดงกำลังอำนาจทางทหารกดดันแก่จีน เกาหลีเหนือ นอกจากสหรัฐต้องรับมือกับมหาอำนาจใหม่แล้ว หลังกรณีการก่อวินาศกรรมตึก World Trade Center สหรัฐ เมื่อ ๑๑ ก..๒๕๔๔ ได้ทำให้โลกและสหรัฐตระหนักถึงความรุนแรงของภัยของการก่อการร้ายและเหตุการณ์นี้คือการสิ้นสุดยุคการมีโลกขั้วเดียว (Unipolar Moment) ก้าวเข้าสู่
ยุคที่ ๔ ยุคปัจจุบันที่ทั้งสหรัฐและพันธมิตร ต้องพยายามรักษา อิทธิพล/ผลประโยชน์และบทบาทนำในเวทีการเมืองระหว่างประเทศต่อจีน รัสเซียและกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง รวมทั้งพยายามกำจัดกลุ่มก่อการร้ายที่มองสหรัฐคือเป้าหมายในการทำลาย สำหรับอาเซียนต้องปรับเปลี่ยนนโยบายการเมืองระหว่างประเทศให้สมดุลกับสหรัฐและจีน โดยใช้กลไกของความร่วมมือประชาคมอาเซียนในการแก้ปัญหาและสร้างอำนาจต่อรองกับประเทศมหาอำนาจผ่านการประชุม เช่น การประชุม รมว.กห.อาเซียน กับคู่เจรจาหรือที่มีชื่อว่าการประชุม ADMM Plus รวมทั้งต้องวางมาตรการป้องกันไม่ให้เครือข่ายก่อการร้ายเข้ามาใช้พื้นที่ในประเทศเพื่อทำลายผลประโยชน์ของสหรัฐและพันธมิตรในประเทศตนซึ่งจะเป็นการทำให้ถูกกดดันจากประเทศสหรัฐและเป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ดีในการเมืองระหว่างประเทศ


ภาพเส้นทางเดินเรือสำคัญของโลกเชื่อมต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

๒.   ปัญหาภัยพิบัติของอาเซียน รายงานสถานการณภัยพิบัติประจําปีที่จัดทําโดยโครงการ International Strategy for Disaster Reductionขององคการสหประชาชาติ ระบุว่าทวีปเอเชียเป็นภูมิภาคที่มีประชากรได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติมากที่สุดโดยเฉพาะภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์  สึนามิในไทยและอินโดนีเซียเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๗ พายุไซโคลนนาร์กิสในพม่า การระเบิดของภูเขาไฟ "เมอราปิ" (Merapi) และแผ่นดินไหวในเมืองยอคยาการ์ต้าและบันดุงของอินโดนีเซีย มหาอุทกภัยในประเทศไทยเมื่อปี ๕๔ พายุไต้ฝุ่นในเวียดนามและฟิลิปปินส์(ล่าสุดคือพายุไห่เหยียนที่พัดเข้าสู่ฟิลิปปินส์) จากสภาวะโลกร้อนได้ทำให้ภัยพิบัติมีความรุนแรงและความถี่การเกิดมากขึ้น อีกทั้งการขยายตัวของประชากรและการเติบโตของเมือง  ในอาเซียนมีการขยายพื้นที่การตั้งถิ่นที่อยู่อาศัยและพื้นที่อุตสาหกรรมเข้าไปในเขตพื้นที่เสี่ยงต่อภัยพิบัติ ทำให้แนวโน้มความสูญเสียและการรับมือกับภัยพิบัติของอาเซียนมีความซับซ้อนและรุนแรงมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจะสร้างความเสียหายทั้งต่อชีวิต ทรัพย์สิน ระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมคิดเป็นมูลค่ามหาศาล 


ข้อมูลจาก The Humanitarian Practice Network (HPN) http://www.odihpn.org

จึงสรุปได้ว่าภัยพิบัติเป็นอุปสรรคสำคัญในการบรรลุถึงเป้าหมายการพัฒนาชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาคมอาเซียนหากการจัดการภัยพิบัติของรัฐบาลไม่มีประสิทธิภาพและไม่ตอบสนองต่อความคาดหวังของประชาชน เสถียรภาพและความมั่นคงของรัฐบาลย่อมกระทบกระเทือน ซึ่งจะส่งผลโดยรวมของความมั่นคงของระบบเศรษฐกิจอาเซียนโดยรวมด้วย
๓.   ปัญหาความมั่นคงภายในระหว่างประเทศในอาเซียน ได้แก่ ปัญหาการขัดแย้งในเรื่องพรมแดนระหว่างประเทศ ปัญหาทะเลจีนใต้ ปัญหาที่จะเกิดขึ้นหลังการรวมกลุ่มประชาคมอาเซียน เช่น ปัญหาแรงงานอพยพ การค้ามนุษย์ ปัญหาชนกลุ่มน้อย ปัญหาก่อการร้าย ซึ่งปัญหาเหล่านี้กระทบไม่เฉพาะประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้นแต่ยังมีผลต่อความมั่นคงภายในของประเทศที่มีอาณาเขตติดกันอีกด้วยซึ่งจำเป็นที่ทุกชาติควรต้องร่วมมือกันจัดการปัญหาข้ามพรมแดนเหล่านี้ เช่น การสร้างความร่วมมือในระดับอนุภูมิภาคระหว่างกัมพูชา ลาว พม่า และไทย ในกรอบความริเริ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง (Lower Mekong Initiative :LMI )
         จากสภาวะแวดล้อมด้านความมั่นคงข้างต้นซึ่งประเมินว่าจะเกิดขึ้นในห้วง ๑๐ ปีข้างหน้าและจากบทเรียนประวัติศาสตร์ของอาเซียน แสดงให้ให้เห็นถึงความสำคัญของเสาหลักประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียนซึ่งมีความสำคัญที่สุดในการค้ำยัน๒ เสาหลัก (เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม)เพราะสภาวะแวดล้อมทางความมั่นคง คือความปลอดภัยที่สะท้อนเสถียรภาพรัฐบาล เป็นความเชื่อมั่นของระบบเศรษฐกิจทุนนิยมในปัจจุบันโดยเฉพาะที่ตั้งของประเทศอาเซียนอยู่ตำบลที่จุดยุทธศาสตร์โลกซึ่งเป็นเส้นทางขนส่งทางทะเลนานาชาติและเป็นพื้นที่ช่วงชิงผลประโยชน์ระหว่างประเทศมหาอำนาจโลก ซึ่งเมื่อประชาคมอาเซียนเกิดขึ้น ทุกชาติอาเซียนควรต้องร่วมมือกันเพื่อการรักษาอำนาจอธิปไตยไม่ให้สูญเสียให้แก่มหาอำนาจเพื่อเป็นหลักประกันการรักษาผลประโยชน์ของชาติอาเซียนร่วมกัน
ความร่วมมือทางทหารในเสาหลักประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน
    ในเสาหลักประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ทหารดูเหมือนว่าจะเป็นผู้นำองค์กร   ความมั่นคงอื่นๆ เนื่องจากทุกชาติในอาเซียนนั้น ทหารจะมีบทบาทนำในการรักษาอำนาจอธิปไตยและความมั่นคงประเทศ จากการประเมินสภาวะแวดล้อมความมั่นคงในช่วง ๑๐ ปีจะเห็นได้ว่าปัญหาความมั่นคงอาเซียนในยุคโลกาภิวัติ(Globalization) ภัยคุกคามจะมาจากภัยพิบัติจากธรรมชาติขนาดใหญ่ และภัยจากชาติมหาอำนาจที่เข้ามาแสวงผลประโยชน์จากทรัพยากรของชาติอาเซียน ซึ่งจะเห็นว่าทั้งสองภัยเป็นปัญหาข้ามพรมแดน (Tran-boundary ) มีผลกระทบที่ต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอย่างรุนแรง ดังนั้นประชาคมอาเซียนที่ต้องจะเผชิญกับภัยดังกล่าวจำเป็นต้องแก้ไขปัญหาในลักษณะร่วมกลุ่มกันเพื่อสร้างอำนาจต่อรองต่อประเทศมหาอำนาจ สำหรับความร่วมมือทางทหารของอาเซียนถือว่ามีความสำคัญโดยเป็นหัวข้อหลักในกรอบความร่วมมือกันด้านการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community) ซึ่งได้บรรจุไว้ในเวทีการประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน” หรือ ADMM (ASEAN Defense Ministers Meeting) และ”การประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียนกับประเทศคู่เจรจา” หรือ ADMM - Plus 8 ประเทศ คือ สหรัฐฯ จีน รัสเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ อินเดีย ออสเตรเลีย ทั้งนี้ผลการประชุม ADMM - Plus ล่าสุดได้มีการให้ความเห็นชอบการเป็นประธานร่วมของคณะทำงาน ADMM - Plus ในวงรอบปี ๒๕๕๗ - ๒๕๕๙ ดังต่อไป ๑) ความมั่นคงทางทะเล (บรูไน, นิวซีแลนด์) ๒) การแพทย์ทางทหาร (ไทย, รัสเซีย) ๓) การปฏิบัติการรักษาสันติภาพ (กัมพูชา, เกาหลี) ๔) การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ (ลาว, ญี่ปุ่น) ๕) การต่อต้านการก่อการร้าย (สิงคโปร์, ออสเตรเลีย) และ ๖) ด้านการปฏิบัติการทุ่นระเบิดเพื่อมนุษยธรรม (เวียดนาม, อินเดีย)


ภาพการประชุม ADMM-Plus เมื่อ ๒๙ ส..๕๖
กองทัพเรือในเสาหลักประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน
         กระทรวงกลาโหมได้กำหนดให้กองทัพเรือรับผิดชอบโดยตรงต่อกลุ่มงานด้านความมั่นคงทางทะเล อย่างไรก็ตามจากภัยพิบัติขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นจริงเช่น กรณีคลื่นยักษ์สึนามิถล่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อปี ๔๗ และกรณีสถานการณ์มหาอุทกภัยในประเทศไทยเมื่อปี ๕๔ ซึ่งกองทัพเรือได้ส่งกำลังพล เรือและยุทโธปกรณ์เข้าช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ภัยพิบัติที่ได้รับมอบหมาย คงเป็นข้อบ่งชี้ว่าภารกิจด้านการบรรเทาภัยพิบัตินี้ นอกจากการที่กองทัพเรือต้องเตรียมความพร้อมในการสนับสนุนรัฐบาลตามแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติแล้วยังมีภารกิจที่ต้องเตรียมการสนับสนุนภารกิจ HA/DR แก่สมาชิกชาติในอาเซียนตามข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติและการตอบโต้สถานการณ์ฉุกเฉิน (ASEAN Agreement on Disaster Management and Emergency Response, AADMER) เมื่อ ๒๖ มิถุนายน ๒๕๔๘ (AADMER เป็นกฎหมายระหว่างประเทศฉบับแรกและฉบับเดียวในโลกที่มีผลผูกพันประเทศที่เป็นภาคีเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม)และเอกสารมาตรฐานวิธีการปฏิบัติและระบบเตรียมความพร้อมด้านการประสานงานการบรรเทาทุกข์และการตอบโต้สถานการณ์ภัยพิบัติฉุกเฉินของอาเซียน หรือ SASOP (Standard Operating Procedure for Regional Standby Arrangements and Coordination of Joint Disaster Relief and Emergency Response Operations) เป็นแนวทางการปฏิบัติของชาติสมาชิกเมื่อเกิดภัยพิบัติ ทั้งนี้จากการผลงานของกองทัพเรือที่ผ่านมาแสดงถึงขีดความสามารถทั้ง ๓ มิติของกองทัพเรือในการเผชิญและรับมือกับภัยคุกคามทุกรูปแบบในประเทศไทยได้ดี แต่เมื่อปัญหาภัยพิบัติและภัยความมั่นคงทางทะเลที่มีลักษณะเปลี่ยนแปลงทั้งระดับความรุนแรง ความซับซ้อนของปัญหาและเป็นปัญหาข้ามชาติ (Transnational Crime) และข้ามเขตแดน (Cross Border) ที่มีผลกระทบต่อสองประเทศขึ้นไปโดยเฉพาะทางทะเล มักจะเกิดในเขตพื้นที่ทับซ้อน เขตเศรษฐกิจจำเพาะ ทะเลหลวงจนไปถึงเส้นทางขนส่งทางทะเลสากลที่ประเทศไทยใช้ในการขนส่งน้ำมันและสินค้าส่งออกประเทศ จึงมีความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องให้กองทัพเรือเข้าไปคุ้มครองผลประโยชน์ของชาติในพื้นที่ดังกล่าวโดยการปฏิบัติการร่วมกับชาติอาเซียนและนานาชาติ (Combined Operation) เช่น ภารกิจของหมู่เรือปราบปรามโจรสลัดในอ่าวเอเดนและชายฝั่งโซมาเลีย การลาดตระเวนร่วมช่องแคบมะละกาและภารกิจด้าน HA/DR กรณีพายุไหเหยียนในประเทศฟิลิปปินส์ เป็นต้น


ภาพภารกิจของหมู่เรือปราบปรามโจรสลัดในอ่าวเอเดนและชายฝั่งโซมาเลีย

        ดังนั้นสำหรับคำถามว่าก้าวต่อไปของกองทัพเรือในประชาคมอาเซียนควรจะก้าวไปอย่างไรนั้น 
  เมื่อพิจารณาหน้าที่และภารกิจของกองทัพเรือ แนวโน้มภัยคุกคามที่จะเกิดขึ้นในภูมิภาคอาเซียนในช่วง  ๑๐ ปีข้างหน้าที่มีส่งผลเสียหายรุนแรงต่อชีวิตพลเมืองและระบบเศรษฐกิจของอาเซียน ซึ่งถือว่าเป็นภัยคุกคามร่วม (Common Threat) ของทุกชาติอาเซียนที่ต้องร่วมมือกันแก้ไขปัญหาตามปฏิญญาอาเซียนและข้อตกลงอาเซียน สรุปเป็นงานของกองทัพเรือกับประชาคมอาเซียนได้ ๒ งานได้แก่ 
   ๑. ภารกิจการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและบรรเทาภัยพิบัติธรรมชาติที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ 
    ๒. ภารกิจการรักษาความมั่นคงทางทะเลร่วมกันในภูมิภาคอาเซียนโดยเฉพาะปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ (ข้ามทะเล) ในยุคก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน การแก้ไขปัญหาขัดแย้งในเรื่องเขตแดนทางทะเลและการช่วงชิงทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ปัญหาทะเลจีนใต้ การรักษาความมั่นคงของเส้นทางขนส่งทางทะเลและช่องแคบมะละกาดังนั้นคงพออนุมานได้ว่าในการก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี ๕๘ นั้น กองทัพเรือควรจะก้าวเดินทางซ้ายด้วยการสนับสนุนภารกิจ HA/DRและก้าวเดินทางขวาด้วย ภารกิจการรักษาความมั่นคงทางทะเลร่วมกันในภูมิภาคอาเซียน บนพื้นฐานผลประโยชน์ของชาติทางทะเล การมีศักดิ์ศรีและการรักษาอำนาจอธิปไตยของประเทศและการช่วยเหลือประชาชน ตามหน้าที่ที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญรวมถึงการปกป้องผลประโยชน์ร่วมกันของประชาคมอาเซียนตามที่กำหนดไว้ในกฎบัตรอาเซียน สำหรับรายละเอียด มีดังนี้
๑.ภารกิจสนับสนุนการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติ (Humanitarian Assistance and Disaster Relive :HA/DR) ให้แก่ประเทศในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเป็นการส่งกำลังออกปฏิบัติการนอกประเทศซึ่งต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลและประเทศประสบภัย เมื่อประเมินความพร้อมของกำลังพล ยุทโธปกรณ์ของกองทัพเรือในภารกิจด้าน HA/DR พบว่าปัจจุบันกองทัพเรือมีเรือขนาดใหญ่ที่สามารถใช้เป็นฐานบัญชาการในการควบคุมบังคับบัญชาและการสื่อสาร ขีดความสามารถด้านการเป็นเรือพยาบาล การอพยพและช่วยเหลือผู้ประสบภัย เป็นฐานบินของเฮลิคอปเตอร์ และเป็นเรือขนส่งยุทโธปกรณ์ลำเลียงอาหารและเวชภัณฑ์สนับสนุนหน่วยช่วยเหลือด้านบรรเทาภัยพิบัติและช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่ไปปฏิบัติการบนบก ทั้งนี้จากการที่เรือสามารถปฏิบัติการในทะเลได้นานทำให้กองทัพเรือมีขีดความสามารถในการดำรงอยู่ในสภาวะแวดล้อมในพื้นที่ปฏิบัติการที่ประสบภัยพิบัติในห้วงวิกฤติหลังภัยพิบัติซึ่งมีโรคระบาดและผลกระทบต่อเนื่องของภัยพิบัติ เช่น แผ่นดินไหว แผ่นดินถล่ม ฝนตกหนัก พายุถล่มในพื้นที่ได้ดี เช่น ภารกิจการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิ ในปี ๔๗ ทั้งนี้ล่าสุดกองทัพเรือได้ขึ้นระวางประจำการเรือหลวงอ่างทองในปี ๕๕ ซึ่งมีภารกิจโดยตรงในการช่วยเหลือประชาชนในการบรรเทาสาธารณภัย ค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล การขนส่งลำเลียงทางทะเล เรือบัญชาการและฐานปฏิบัติการในทะเล จึงเป็นเครื่องยืนยันขีดความสามารถรองรับภารกิจด้านการบรรเทาสาธารณภัยนอกประเทศในภูมิภาคอาเซียนของกองทัพเรือได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นแนวคิดการใช้กำลังทางเรือเช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในยุทธศาสตร์ทางเรือของสหรัฐ จีน รวมไปถึงหลายชาติในอาเซียนซึ่งเห็นได้ชัดเจนในการที่สหรัฐ จีน สิงคโปร์ และมาเลเซียได้นำเรือเข้าร่วมการฝึกทางทหารอาเซียนด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติของอาเซียนที่ประเทศบรูไนในปี ๕๗ ที่ผ่านมา ดังนั้นพอจะสรุปได้ว่าปัจจุบันกองทัพเรือมีความพร้อมของเรือและยุทโธปกรณ์ในการรองรับภารกิจด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติในภูมิภาคอาเซียนได้เป็นอย่างดีอย่างไรก็ตามกองทัพเรือควรต้องพัฒนากำลังพลที่จะเข้าไปปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยงานต่างประเทศให้มีความเป็นมืออาชีพซึ่งหมายถึง 
   ๑. ทีมระดับยุทธวิธีมีประสบการณ์และขีดความสามารถในภารกิจ HA/DR  
  ๒. ทีมวางแผนร่วมมีทักษะและความรู้ในการทำงานภายในศูนย์ประสานงานนานาชาติ (Multi -National Coordination Center: MNCC) ซึ่งเน้นการปฏิบัติการร่วมทหาร - ทหาร และงานการประสานการปฏิบัติร่วมกับศูนย์ประสานงานพลเรือน - ทหาร (Civil - Military Coordination Center : CMCC) ซึ่งต้องมีความรู้ในเรื่องกฎหมายระหว่างประเทศ กฎหมายด้านมนุษยธรรมเอกสารหลักปฏิบัติการร่วมนานาชาติที่กองทัพในอาเซียนองค์กรระหว่างประเทศใช้ในปัจจุบัน ได้แก่ ASEAN SASOP, MNF SOP APC MADRO และ Oslo Guidelines เป็นอย่างดี


ภาพการฝึก ASEAN Defense Ministers’ Meeting-Plus Humanitarian Assistance & Disaster Relief , Military Medicine Exercise (ADMM+ HADR & MM EX) or 2nd AHX Exercise ปี ๕๖ ประเทศบรูไน

จากแนวโน้มจากความรุนแรงและผลกระทบของปัญหาภัยพิบัติที่ทุกชาติในอาเซียนเผชิญอยู่ในปัจจุบัน  ได้ทำให้กองทัพของประเทศสมาชิกอาเซียนปรับบทบาทจากการเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการพิทักษ์รักษาอำนาจอธิปไตยมาสู่ความเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ในการพิทักษ์รักษาชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจากภัยธรรมชาติ ดังจะเห็นได้จากการพัฒนาและยกระดับการฝึกร่วมบรรเทาสาธารณภัยของกองทัพอาเซียนจากระดับทวิภาคีเป็นพหุภาคี เช่น การฝึกร่วมผสมกองทัพไทยและกองทัพมาเลเซีย (Joint Combined Exercise Thailand and Malaysia) การฝึกร่วมบรรเทาสาธารณภัยไทย - กัมพูชา การฝึกร่วมด้านบรรเทาสาธารณภัยของกองทัพอาเซียน (2013 ADMM Plus+ AHA+ MM Ex) ณ ประเทศบรูไน และการฝึกด้านมนุษยธรรมและบรรเทาสาธารณภัยของอาเซียน (2014 ASEAN  HADR Multilateral Exercise : AHEX14) ณ ประเทศไทย ทั้งนี้เป็นการเตรียมความพร้อมการปฏิบัติงานของกองทัพชาติอาเซียนในการบรรเทาภัยพิบัติร่วมกันเมื่อเกิดสถานการณ์จริง ซึ่งจะพัฒนาไปสู่แนวคิดการรวมกลุ่มเป็นกองกำลังอาเซียนด้าน HA/DR ในอนาคต
๒.ภารกิจรักษาความมั่นคงทางทะเลเพื่อรักษาผลประโยชน์ทางทะเลร่วมกันในภูมิภาคอาเซียน
กองทัพเรือมีภารกิจตามรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรไทยในการรักษาอำนาจอธิปไตย ความมั่นคงทางทะเลและผลประโยชน์ของชาติทางทะเล สำหรับภารกิจการรักษาความมั่นคงทางทะเลร่วมกันในภูมิภาคอาเซียนของกองทัพเรืออยู่ภายใต้กรอบการประชุม รมว.กห.อาเซียน (ADMM Meeting) ซึ่งในกลุ่มงานความมั่นคงทางทะเลคงจะต้องนิยามให้ชัดเจนก่อนว่าอะไร?คือผลประโยชน์ทางทะเลร่วมกันของประชาคมอาเซียนและสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการแสวงหาและรักษาผลประโยชน์ร่วมกันนั้นคืออะไร ซึ่งจะช่วยกำหนดขอบเขตงานรับผิดชอบได้ว่าพื้นที่ที่กองเรือของอาเซียนต้องช่วยกันดูแลอยู่ที่ไหน ใคร/อะไรคือภัยคุกคาม? และต้องใช้กำลังทางเรือร่วมกันในลักษณะอย่างไร หากจะนำนิยามความมั่นคงแห่งชาติทางทะเลของไทยมาอ้างอิงโดยเปลี่ยนจาก ชาติ เป็น ประชาคมอาเซียน ว่าความมั่นคงแห่งชาติทางทะเลของอาเซียน หมายถึง การที่ประชาคมอาเซียนมีสภาวะแวดล้อมทางทะเลที่เอื้อให้สามารถดำเนินกิจกรรมทางทะเลได้อย่างเสรี ปลอดภัย และเหมาะสมบรรลุผลประโยชน์ร่วมของชาติในอาเซียน[5]คงตอบได้ว่าจากการที่ประชาคมอาเซียนตั้งอยู่บนจุดยุทธศาสตร์และเส้นทางขนส่งทางทะเลที่สำคัญของโลกภัยคุกคามหลักของประชาคมอาเซียนน่าจะเป็น 
. การแสวงหาผลประโยชน์และสร้างอิทธิพลของชาติมหาอำนาจ ได้แก่ สหรัฐและพันธมิตร จีน และอินเดีย 
. ภัยคุกคามรูปแบบใหม่ เช่น โจรสลัด อาชญากรรมข้ามชาติ การลักลอบค้าอาวุธและของสิ่งผิดกฎหมาย ปัญหาผู้ลี้ภัย ปัญหาก่อการร้ายทางทะเล ซึ่งทั้งสองภัยนี้เป็นการลดเสถียรภาพความมั่นคงในภูมิภาคอาเซียนที่ต้องการการรักษาและเพิ่มพูนสันติภาพ ความมั่นคง เสถียรภาพ ความร่วมมือด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจและสังคมวัฒนธรรม เป็นเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์และอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง[6]” 
. ปัญหาขัดแย้งภายในของอาเซียนเอง ซึ่งส่วนมากจะเป็นเรื่องเส้นเขตแดนทับซ้อนและการแย่งชิงทรัพยากรทางทะเล สำหรับหากจะหาว่าอะไรคือผลประโยชน์ร่วมกันของประชาคมอาเซียนนั้นควรต้องพิจารณาที่สมุททานุภาพโดยรวมของอาเซียน[7]ซึ่งพิจารณาแล้วว่าประชาคมอาเซียนคือ Maritime Nation หลักฐานจากประวัติศาสตร์พบว่าอาเซียนเป็นเส้นทางการค้าทางทะเลที่สำคัญของโลก ที่ตั้งทุกประเทศยกเว้นลาวมีเขตแดนติดทะเลและมีขอบฝั่งยาวมีท่าเรือขนาดใหญ่หลายแห่ง (โดยเฉพาะท่าเรือทวายของพม่า โครงการคลองกระยุคใหม่ ซึ่งเป็นโครงการสำคัญของประชาคมอาเซียนซึ่งจะเชื่อมต่อระบบการขนส่งทางทะเล - บนบก - ทะเลของทุกประเทศได้) มีระบบเศรษฐกิจพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับทะเล เช่น ท่าเรือ อู่ซ่อม/ต่อเรือ การประมง และการท่องเที่ยวทางทะเลที่สร้างรายได้ให้กับทุกประเทศ จึงอาจจะกล่าวได้ว่าผลประโยชน์ทางทะเลร่วมกันของประชาคมอาเซียน ได้แก่ 
. เส้นทางเดินเรือสากล เครือข่ายและระบบขนส่งทางทะเลมีความปลอดภัยและใช้ได้ตลอดเวลา (ได้แก่ ระบบการจลาจรทางทะเล เช่น ช่องแคบมะละกา ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ระบบข้อมูลการเดินเรือ ระบบสื่อสาร ระบบการข่าวทางทะเล เป็นต้น) 
. ทรัพยากรทางทะเลที่มีการเชื่อมโยงผลประโยชน์ร่วมกัน เช่น ระบบขนส่งท่อน้ำมันและแก็สธรรมชาติในทะเลระหว่างประเทศ เกาะและเมืองท่าชายทะเลท่องเที่ยว และทรัพยากรในทะเล เป็นต้น
 ดังนั้นภารกิจในการรักษาความมั่นคงทางทะเลเพื่อรักษาผลประโยชน์ทางทะเลร่วมกันในภูมิภาคอาเซียน คือ การสร้างเสถียรภาพความมั่นคงและสร้างความปลอดภัยทางทะเลในภูมิภาคนั้นเอง  ซึ่งหลักการแก้ไขปัญหาภัยคุกคามของประชาคมอาเซียนคือนโยบายด้านการเมืองต่างประเทศของอาเซียนเองในการลดความขัดแย้งระหว่างกัน การใช้กลไกอาเซียน เช่น กรณีการขัดแย้งในทะเลจีนใต้ไปจนถึงการใช้กลไกของสหประชาชาติและองค์กรระหว่างประเทศ เช่น  การแก้ไขปัญหาเขตแดนทางทะเลของสิงคโปร์กับมาเลเซีย ควบคู่ไปกับการใช้กำลังทางเรือเป็นเครื่องมือสนับสนุนนโยบายซึ่งเมื่อพิจารณาขีดความสามารถของกองทัพเรือทุกชาติในอาเซียนแล้วนำมารวมเป็นกองทัพเรืออาเซียน (ASEAN Naval Force) ตามแนวคิดการพัฒนา  สมุททานุภาพของอาเซียนเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประชาคมอาเซียน จะพบว่ากองทัพเรือในภาพรวมของอาเซียนมีขีดความสามารถสูงในทุกมิติ ทั้งเรือดำน้ำ เรือบรรทุกเฮลิคอปเตอร์ เรือยกพลขึ้นบก อากาศยานและเรือซึ่งเพียงพอกับพื้นที่ปฏิบัติการร่วมกันในภูมิภาคและสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการต่อรองกับประเทศมหาอำนาจ การป้องปราม และต่อต้านภัยคุกคามในรูปแบบต่างๆได้เป็นอย่างดี เช่น การแสดงกำลัง เช่น การฝึกยิงอาวุธปล่อยนำวิถีร่วมกัน ทั้งนี้การใช้กำลังรบคงจะเป็นทางเลือกสุดท้ายในการแก้ไขปัญหาร่วมกันของอาเซียน



ภาพการปฏิบัติการร่วมของกองเรือ
ก้าวแรกกองทัพเรือกับบทบาทนำในเวทีการประชุมผู้บัญชาการทหารเรืออาเซียน

 
พล..ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.ทสส. และ พล... ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผบ.ทร.เปิดการประชุมผู้บัญชาการทหารเรืออาเซียนครั้งที่ ๘ ณ โรงแรมมิลเลนเนียม ฮิลตัน กรุงเทพ
       
      จากผลสำเร็จในการเป็นเจ้าภาพการประชุมระดับทวิภาคีในเวทีการประชุมความร่วมมือทางทะเล Navy to Navy Talks กับประเทศเพื่อนบ้านและการประชุมระดับพหุภาคี ได้แก่ การประชุม 2012 WPNS Workshop ซึ่ง ทร.เป็นเจ้าภาพการประชุมในปี ๕๕  จนนำมาสู่การได้รับเกียรติในการเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้บัญชาการทหารเรืออาเซียน ครั้งที่ ๘ ณ กรุงเทพ ระหว่าง ๒๕-๒๘ ส.. ๕๗        ในวาระสำคัญก่อนที่ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้ง ๑๐ ชาติจะรวมกลุ่มเป็นประชาคมอาเซียนใน ปี ๕๘ โดยมี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผบ.ทร. เป็นประธานฯ และมีผู้บัญชาการทหารเรืออีก ๘ ประเทศเข้าร่วมการประชุม ได้แก่ บรูไน อินโดนีเซีย กัมพูชา มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม โดยมีประเด็นหลักการประชุมฯ ได้แก่ บทบาทของกองทัพเรืออาเซียนภายหลังมีการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนในปี พ.ศ. ๒๕๕๘ (Roles for the ASEAN Navies after ASEAN Integration 2015) ทั้งนี้ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผบ.ทร. ได้ให้สัมภาษณ์ถึงผลการประชุมฯ       สรุปสาระสำคัญได้ว่า การประชุมสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี ทุกประเทศในอาเซียนมีความสมัครสมานสามัคคีกันเป็นอย่างดี มีการผนึกกำลังและร่วมมือกันแก้ไขปัญหาโจรสลัด การลักลอบค้ามนุษย์ทางทะเล และการช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล ซึ่งจะเสริมสร้างความมั่นคงทางทะเลในภูมิภาคอาเซียน สำหรับการประชุมครั้งที่ ๙ ประเทศเมียนม่าร์จะเป็นเจ้าภาพ และการประชุมฯครั้งที่ ๑๐ ในปี ๕๙ นั้น ประเทศมาเลเซียจะเป็นเจ้าภาพ สำหรับในปี ๖๐ ซึ่งครบรอบ ๕๐ ปีของการก่อตั้งอาเซียนประเทศไทยได้เสนอขอเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้บัญชาการทหารเรืออาเซียนอีกครั้ง เนื่องจากอาเซียนเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกที่กรุงเทพฯ ซึ่งในโอกาสอันสำคัญนี้กองทัพเรือจะจัดให้มีกิจกรรมเฉลิมฉลอง ๕๐ ปีการก่อตั้งอาเซียน ได้แก่ กิจกรรมการสวนสนามทางเรือของกองทัพเรือประเทศอาเซียน ที่เมืองพัทยา จ.ชลบุรี และการจัดการฝึกร่วมทางทะเลแบบพหุพาคีของอาเซียนเป็นครั้งแรก ทั้งนี้ได้จัดทำสรุปผลการประชุมและแผนงานกิจกรรมความร่วมมือในวงรอบ ๒ปี ซึ่งทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นถึงบทบาทนำกองทัพเรือในการริเริ่มนโยบายการรวมกลุ่มกองทัพเรืออาเซียนให้เป็นหนึ่งหรือ Naval Forces  ASEAN as One[8] ตามแนวคิดกฎบัตรอาเซียน อันจะนำไปสู่แนวคิดกองกำลังทางเรือของอาเซียนในอนาคต[9]ซึ่งจะทำให้ทุกชาติในอาเซียนหันมาร่วมมือกันแก้ไขปัญหาและปกป้องผลประโยชน์ร่วมทางทะเลในภูมิภาคอันจะนำไปสู่การกินดีอยู่ดีของประชาชนในประชาคมอาเซียน จึงนับว่าเป็นก้าวแรกที่มั่นคงในบทบาทนำของกองทัพเรือไทยในเวทีกองทัพเรืออาเซียนอย่างแท้จริง
ก้าวต่อไปของกองทัพเรือในประชาคมอาเซียน


ภาพกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์
พระบิดากองทัพเรือนำดี ตามดี[10]

        จากวิสัยทัศน์กองทัพเรือในการเป็นหน่วยงานความมั่นคงทางทะเลที่มีบทบาทนำในภูมิภาคและ      เป็นเลิศในการบริหารจัดการ คงเป็นการยืนยันการวาง Positioning หรือภาพลักษณ์กองทัพเรือตามหลักการบริหาร (Management) ได้เป็นอย่างดี ดังนั้นคงจะสามารถตอบคำถามได้ว่าก้าวต่อไปของกองทัพเรือในประชาคมอาเซียนคือ การก้าวด้วยการเป็นกองทัพเรือชั้นนำที่มีบทบาทนำในภูมิภาคอาเซียนในภารกิจสนับสนุนการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการบรรเทาภัยพิบัติและภารกิจการรักษาความมั่นคงทางทะเลเพื่อรักษาผลประโยชน์ทางทะเลร่วมกันในภูมิภาคอาเซียน ดังนั้น Road Map ที่จะนำกองทัพเรือไปสู่การเป็นหน่วยงานความมั่นคงทางทะเลที่มีบทบาทนำในภูมิภาคซึ่งหมายถึงบทบาทนำทั้งนโยบายและบทบาทนำในด้านการปฏิบัติการทางเรือเพื่อให้เป็นที่เชื่อมั่นแก่ประชาชนและกองทัพในประชาคมอาเซียน โดยบทบาทนำด้านนโยบาย ได้แก่ การริเริ่มเสนอมาตรการในการแก้ปัญหาสำคัญของประชาคมอาเซียนในการพิทักษ์รักษาผลประโยชน์ทางทะเลร่วมกันของทุกชาติผ่านการประชุมระดับผู้บังคับบัญชาชั้นสูง (Senior Commander) ทั้งในระดับการประชุม รมว.กห.อาเซียน (ADMM) และการประชุม ผบ.ทร.อาเซียน ลงสู่ระดับเสนาธิการ (Staff) ได้แก่ การประชุมระดับทวิภาคี เช่น การประชุม Navy to Navy Talks กับชาติในอาเซียน และการประชุมระดับพหุภาคี เช่น การประชุมในภูมิภาคแปซิฟิก WPNS จนเป็นแผนประจำปีกองทัพเรือประชาคมอาเซียน (ASEAN Navy Year Plans) ที่ชัดเจนทั้งเรื่องแผนการฝึกร่วมและผสมทั้งทวิภาคีและพหุภาคี การแลกเปลี่ยนการเยือนผู้บังคับบัญชาและการเยี่ยมเมืองท่าของหมู่เรือ การแลกเปลี่ยนการศึกษา การแลกเปลี่ยนการข่าวทางทะเลและที่สำคัญมากคือแผนงานการปฏิบัติการทางเรือร่วมกันในลักษณะกองทัพเรืออาเซียน (ควรจะเริ่มจากการฝึกด้านการบรรเทาภัยพิบัติก่อนเนื่องจากเป็นภัยคุกคามร่วมกันและลดการหวาดระแวงทางการทหารซึ่งได้ริเริ่มขึ้นแล้วในการฝึก HA/DR ในกรอบ ADMM Plus ที่ประเทศบรูไนเมื่อปี ๕๖) สำหรับบทบาทนำในระดับการปฏิบัติการทางเรือ คือ กองทัพเรือมีความพร้อมและ          ขีดความสามารถของกำลังพลและยุทโธปกรณ์ในการปฏิบัติการทางเรือร่วมกับกองทัพในชาติอาเซียนได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือความเป็นมืออาชีพนั่นเอง โดยหน่วยเตรียมกำลังรบไม่ว่ากองเรือยุทธการ นาวิกโยธิน หน่วยต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่ง ต้องสร้าง นักรบทางเรือให้มีความเชี่ยวชาญทั้งการวางแผนยุทธการไปถึงการปฏิบัติงานจริงในระดับยุทธวิธีร่วมกับชาติในอาเซียนและพันธมิตร ดังนั้นการพัฒนาองค์ความรู้และการจัดหายุทโธปกรณ์จึงต้องทำควบคู่ไปกับ การฝึกอย่างไร รบอย่างนั้น จึงจะได้ความชำนาญและความเป็นทหารมืออาชีพรวมทั้งการปลูกฝังค่านิยมกองทัพเรือ (Sail) เพื่อสร้างความภูมิใจในอาชีพในการเป็นทหารเรือไทย ซึ่งจะทำให้เกิดความมั่นใจในการปฏิบัติงานจริงกับชาติในอาเซียนซึ่งจะนำไปสู่ความเป็นผู้นำทางทหารและสร้างให้กองทัพเรือมีบทบาทนำในกองทัพเรือชาติอาเซียนซึ่งถือว่าเป็นมาตรการป้องปรามประเทศที่อาจจะเป็นภัยต่อประเทศตามแผนป้องกันประเทศได้อีกด้วย ทั้งนี้ประเด็นสำคัญคือการแปลงนโยบายไปสู่ระดับผู้ปฏิบัติต้องชัดเจนในการทำแผนประจำปีของกองทัพเรือในอาเซียน ความร่วมมือจึงจะเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพในการรักษาผลประโยชน์ทางทะเลของอาเซียนร่วมกัน ซึ่งจะทำให้ประชาชนในอาเซียนเกิดความมั่นใจในคุณค่าของกองทัพเรืออาเซียน คือ กองทัพเรืออาเซียนที่ประชาคมอาเซียนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ


Above: Eight officers from the Royal Thai Navy have arrived at Combined Maritime Forces headquarters, Bahrain, in preparation for the historic deployment of two Thai vessels to the Gulf of Aden. (Left to right): LCdr Suthep Phongsrikul, LCdr Kovit Talasophon, Cdr Siripat Pangpun, Cdr Yutthana Eamsa-Ard, Capt. Yuttasath Threeost, Cdr Pisutsak Sreechumpol, LCdr Prasertsak Mala, and LCdr Pairat Chaiwong.

อ้างอิงข้อมูล
๑.   รายงานผลของการประชุม
๑.๑    การสัมมนาการจัดการภัยพิบัติของกลุ่มความริเริ่มของประเทศลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง LMI DREE (Lower Mekong Initiative Disaster Relief Exercise) ปี ๕๗ ณ กรุงเทพ ประเทศไทย
๑.๒    การประชุมสัมมนาของผู้เชี่ยวชาญเรื่องความมั่นคงทางทะเลในภูมิภาคอาเซียน ในหัวข้อ“Maritime Security in Southeast Asia”โดยศูนย์ Pacific Forum  CSIS ของสหรัฐ ร่วมกับสถาบันความมั่นคงในภูมิภาคอาเซียน ๔ ประเทศ ในปี ๕๕ ดังนี้
๑.๒.๑    เรื่อง “Maritime Safety and the Marine Environment”กับสถาบัน Diplomatic Academy of Vietnam ณ เมืองโฮจิมินห์ ประเทศเวียดนาม
๑.๒.๒    เรื่อง “Maritime Governance” กับสถาบัน Malaysian International  Affairs Forum ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
๑.๒.๓    เรื่อง “Maritime Defense”กับสถาบัน Habibie Center ประเทศอินโดนีเซีย
๑.๒.๔    เรื่อง “Maritime Domain Awareness”กับ วปอ. ฟิลิปปินส์ ประเทศฟิลิปปินส์
๑.๓ การประชุม The 1ST International Counter-Piracy Mission Symposium เมืองนานจิง ประเทศจีน
๑.๔    การประชุมหัวข้อการแสวงหาความร่วมมือของกองทัพเรือกับประชาคมอาเซียนของศูนย์ศึกษายุทธศาสตร์ทหารเรือกับกองทัพพม่า ณ ประเทศเมียนม่าร์ และกับกองทัพกัมพูชา ณ ประเทศกัมพูชา ในปี ๕๔
๑.๕    การประชุม Navy to Navy Talks และ Staff Talks กับประเทศในอาเซียน และออสเตรเลีย
๑.๖    การประชุมผู้บัญชาการทหารเรืออาเซียนครั้งที่ ๘ ณ กรุงเทพ
๒.   รายงานผลการฝึก
๒.๑    การฝึก ASEAN Defense Ministers’ Meeting-Plus Humanitarian Assistance & Disaster Relief , Military Medicine Exercise (ADMM+ HADR & MM EX) or 2nd AHX Exercise ปี ๕๖ ประเทศบรูไน
๒.๒ การฝึก ASEAN Regional Forum Disaster Relief Exercise (ARF DiREX 13) ปี ๕๖ ประเทศไทย
๒.๓          การฝึก ASEAN Humanitarian Assistance & Disaster Relief Exercise (AHEX 14) ปี ๕๖ ประเทศไทย
๒.๔    การฝึก MPAT Tempest Express Staff Planning Workshop (TE-25) ปี ๕๗ ณ ศูนย์สันติภาพกองทัพมาเลเซีย ประเทศมาเลเซีย
๓.     บรรณานุกรม
๓.๑    พลเรือตรี จุมพล ลุมพิกานนท์. (๒๕๕๖, ๑๑ กุมภาพันธ์) บรรยายเรื่องยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติทางทะเล ณ กรมแพทย์ทหารเรือ
๓.๒    สมช. ร่างยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติทางทะเล พ.. ๒๕๕๕ - ๒๕๕๙ 
๓.๓    Johannes Nugroho. (๒๕๔๘, เมษายน) Time for ASEAN to act as a unified force?  The Straits Times สิงคโปร์.  
๓.๔    แนวทางการปฏิบัติตามแนวนโยบายของผู้บัญชาการทหารเรือปี ๕๗
อ้างอิง
[1] ปฏิญญาอาเซียน (อังกฤษ: ASEAN Declaration) หรือ ปฏิญญากรุงเทพฯ (อังกฤษ: Bangkok Declaration) เป็นเอกสารในการก่อตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งได้รับการลงนาม ณ กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2510 โดยในขณะนั้นมีสมาชิกผู้ก่อตั้งจำนวน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซียและฟิลิปปินส์
[2] พจนานุกรมแปล อังกฤษ-ไทย อ. สอ เสถบุตร
[3]ระบบขั้วอำนาจเดี่ยวคือ ภาวะที่การกระจายอำนาจกระจุกตัวอยู่กับประเทศมหาอำนาจเพียงประเทศเดียว เป็นอำนาจที่มีอิทธิพลเหนือประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคมวัฒนธรรม และการทหาร เป็นต้น โดยที่รัฐอื่นๆไม่มีอำนาจต่อรองหรือไม่สามารถถ่วงดุลอำนาจของประเทศมหาอำนาจนั้น
[4] คำกล่าวของนาย โธมัส พิคเคอริง ปลัดกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ แถลงไว้ก่อนที่ประธานาธิบดีคลินตันจะสั่งถล่มค่ายฝึกทหารของนายอุซามะฮ์ บิน ลาดิน (Osama Bin Laden) ในอัฟกานิสถานและสั่งโจมตีอิรักในปี ๙๘ ว่า “..The United States is the sole and unchallenged world power. We reap enormous benefits from this dominance…We must work hard to maintain and use our strength in the face of long-term challenges to us and to the status quo.” หรือแปลว่าสหรัฐอเมริกาเป็นอำนาจโลกแต่เพียงผู้เดียวและไม่มีใครทักท้วง เราเก็บเกี่ยวผลประโยชน์มหาศาลจากการปกครองนี้ ... เราต้องทำงานอย่างหนักเพื่อรักษาและใช้ความแข็งแกร่งของเราในการเผชิญกับความท้าทายในระยะยาวกับเราและสภาพที่เป็นอยู่ "
[5] ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติทางทะเล (พ.ศ. ๒๕๕๕ - ๒๕๕๙) ,สมช
[6] ภาพรวมของประชาคมอาเซียน คือ การรักษาและเพิ่มพูนสันติภาพ ความมั่นคง เสถียรภาพ การเพิ่มความร่วมมือด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจและสังคมวัฒนธรรม เป็นเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์และอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ,กฎบัตรอาเซียน
[7] สมุททานุภาพมาจากคำภาษาอังกฤษว่า Sea Power ซึ่ง นาวาเอก อาลเฟรด เทรเยอร์ มาฮาน นักยุทธศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงมากที่สุดของสหรัฐฯ เป็นผู้นำคำนี้มาใช้เป็นครั้งแรกในหนังสือ The influence of the Sea power Upon history. ซึ่งปัจจุบันคำคำนี้หมายถึง ความสามารถของรัฐชาติในการค้าขายทางทะเล และการใช้ทรัพยากรจากทะเลในทางหนึ่ง และในอีกทางหนึ่งคือการใช้กองทัพเรือปกป้องคุ้มครองสิทธิในการใช้ทรัพยากรและปกป้องคุ้มครองการค้าในทะเลทั้งในยามสงบและสงคราม รวมไปถึงการใช้การค้าขายทางทะเลและกองทัพเรือสนับสนุนนโยบายของรัฐ  โดยรัฐใดที่รู้จักการใช้ประโยชน์จาก สมุททานุภาพย่อมนำความรุ่งเรืองและอำนาจมาให้ ส่วนรัฐใดที่ปล่อยปละละเลยให้สมุททานุภาพของตนเสื่อมโทรมลงย่อมจะตกต่ำแม้ว่าจะเคยรุ่งเรืองมาก่อนก็ตาม
[8] ตามแนวคิดกฎบัตรอาเซียน คือ "วิสัยทัศน์เดียว อัตลักษณ์เดียว ประชาคมเดียว”(One Vision, One Identity, One Community)  
[9] พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.ทสส. กล่าวในพิธีเปิดการประชุม ผบ.ทร.อาเซียนครั้งที่ ๘ ว่าการประชุมในวันนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งในภาพรวมของกองทัพในการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ในอนาคตจะมีการตั้งเป็นกองกำลังอาเซียนและการส่งกำลังไปรักษาสันติภาพแทนที่จะไปประเทศใดประเทศหนึ่งแต่เราจะรวมกันไป ใครที่มีศักยภาพในด้านใดก็ส่งไปพร้อมกับตั้งเป็นหน่วยเฉพาะกิจอาเซียน ซึ่งเราได้มีข้อตกลงกันระหว่างกองทัพในอาเซียน ….มีเสาหลักด้านความมั่นคง ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ถือว่ามีประโยชน์สำหรับกลุ่มประเทศอาเซียนและในภูมิภาค
[10]สารจากผู้บัญชาการทหารเรือ” ……โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในป  พ.ศ.๒๕๕๘ ที่กองทัพเรือจะต้องสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการเสริมสร้างความสัมพันธ์กับกองทัพเรือมิตรประเทศในกลุ่มประเทศอาเซียนเพื่อให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจในการพัฒนาความร่วมมือด้าน       ความมั่นคงต่อไป ซึ่งกองทัพเรือจะได้แสดงบทบาทนำในภูมิภาคโดยการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้บัญชาการทหารเรืออาเซียน ครั้งที่ ๘ …………..การพัฒนากองทัพเรือเพื่อเตรียมการรองรับสภาวะแวดล้อมด้านความมั่นคงในอนาคตที่เปลี่ยนแปลง ที่กองทัพเรือจะต้องประเมินยุทธศาสตร์และกำหนดโครงสร้างกำลังรบใหม่ให้มีความทันสมัย เพื่อให้กองทัพเรือยังคงเป็นหน่วยงานหลักของชาติในการรักษาความมั่นคงทางทะเลที่มีประสิทธิภาพต่อไป

บทความล่าสุดที่เผยแพร่

การแขวนพระตามพื้นดวงเกิดและการเร่งพุทธคุณพระเครื่องด้วยหลักการอิทธิบาทสี่

  การแขวนพระตามพื้นดวงเกิดและการเร่งพุทธคุณพระเครื่องที่แขวนประจำตัวด้วยหลักการอิทธิบาทสี่ นะโมวิมุตตานัง นะโมวิมุตติยา ความนอบน้อมของข้าฯ จ...

บทความที่ได้รับความนิยม